สมศ.เผยผลการประเมิน 15 ปี
พบ3ปัญหาฉุดการศึกษาไทย
สมศ.จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานานาชาติ ประจำปี พ.ศ.2558 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ” ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค กรุงเทพฯ เปิดผลการดำเนินงานในรอบ 15 ปี พบ3ปัญหาฉุดการศึกษาไทย ทั้งการขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย ขาดการกำกับเชิงปริมาณ เช่น เปิดหลักสูตรไม่ตรงความต้องการของสังคม ขาดการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและขาดการคุมคุณภาพ
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า จากการประเมินสิบห้าปีที่ผ่านมาพบว่า ในสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภทกว่า 60,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีสถานศึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 20,376 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 62.04 ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน จำนวน 12,468 หรือคิดเป็นร้อยละ 37.96 ส่วนการอาชีวศึกษา ผ่านการรับรองฯ จำนวน 622 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 79.54 ไม่ผ่านการรับรองฯ จำนวน 160 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.46 และระดับอุดมศึกษา ผ่านการรับรองฯ จำนวน 253 คิดเป็นร้อยละ 66.92 ไม่ผ่านการรับรองฯ จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.54 โดย สมศ. ได้สรุปผลการประเมินทั้งหมดส่งให้สถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูและ และสาธารณชนให้รับทราบอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้สาธารณชนได้เห็น สามารถที่จะสรุปปัญหาการศึกษาไทย ได้เป็น 3 หัวข้อดังนี้
1. การขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย ประเทศไทยมีระบบการบริหารที่ยึดหลักตามผู้บริหาร รูปแบบการศึกษาของไทยถูกปรับเปลี่ยนตามแนวคิดของผู้บริหารในแต่ละช่วง ทำให้นโยบายด้านการศึกษาต่างๆ ไม่ได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขาดโรดแมพ การบริหารการศึกษาในระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย โดยปัญหาที่เห็นเป็นรูปธรรม อาทิ นโยบายการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรายวิชาเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทำให้วิชาสำคัญถูกกลืนหายไป เช่น ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ส่งผลให้ตัวป้อนเข้าสู่อุดมศึกษาขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาว นโยบายไม่มีตกซ้ำชั้น แต่ปรากฎว่ามีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในปัจจุบันมากถึงร้อยละ 30 ทั่วประเทศ นโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ขาดความชัดเจน ในขณะที่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีมากถึงประมาณ 20,000 แห่ง ส่งผลให้เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้น นโยบายการปรับเงินเดือนปริญญาตรี เป็นการเพิ่มค่านิยมปริญญา ส่งผลกระทบต่ออัตราการเข้าเรียนของนักศึกษาด้านอาชีวศึกษาลดต่ำลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานฝีมือ เพราะผู้เรียนเลือกเรียนสายสามัญในระบบอุดมศึกษามากเกินความจำเป็น ทั้งๆ ที่ส่วนหนึ่งจบมาแล้วตกงานหรือต้องทำงานต่ำกว่าวุฒิ ฯ
2.การขาดการกำกับเชิงปริมาณ ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ 1) การเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน (Supply Side) มากกว่าความจำเป็นและความต้องการของสังคม (Demand Side) เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และกลายเป็นความสูญเปล่า (Over Production) ทางการศึกษา 2) การเปิดหลักสูตรที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้นักศึกษาที่จบออกไปไม่มีวุฒิการศึกษารองรับ ทำให้ไม่สามารถหางานได้ 3) ข้อมูลด้านการศึกษา ไม่เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลจำนวนอาจารย์ จำนวนผู้เรียน ขาดการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ขาดการจัดส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และขาดการกำกับดูแลจากส่วนกลาง ทำให้มีความคลาดเคลื่อนด้านข้อมูลอันส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย ฯ
3.การขาดการควบคุมคุณภาพ ด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงเพื่อการเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนสถานภาพของสถาบันอุดมศึกษา ส่งผลให้การจัดการศึกษามุ่งเน้นการจัดการเชิงธุรกิจ การศึกษากลายเป็นสินค้าที่จัดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน คุณภาพอาจารย์และหลักสูตรยังไม่เอื้อต่อการผลิตบัณฑิตอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ เช่น 1) สถาบันอุดมศึกษามุ่งเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) มีการขยายตัวของมหาวิทยาลัย คณะ/ภาควิชาอย่างต่อเนื่องแต่การผลิตอาจารย์ที่มีคุณภาพไม่ทันต่อการขยายตัว อาจารย์ได้รับการพัฒนาไม่เพียงพอ ผลงานวิจัยมีน้อยและไม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ 2)การกระจายอำนาจการบริหารให้กับสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติหลักสูตรและการเปิดการเรียนการสอน ส่งผลให้มีหลักสูตร รวมถึงการจัดการศึกษานอกที่ตั้งจำนวนมาก ทั้งที่หลายแห่งขาดความพร้อม ไม่ว่าด้านเครื่องมือ สถานที่ และบุคลากร ดังนั้นคุณภาพของ สภามหาวิทยาลัยมีผลต่อคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและภาพรวมของประเทศ 3) ประเทศไทยกำหนดอัตราครู 1 ต่อ 16 ในระดับประถมศึกษา ส่วนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 20 แต่ในขณะที่ต่างประเทศกำหนดสัดส่วนจำนวนครู ต่อนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาน้อยกว่าระดับประถมศึกษา
“เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สถานศึกษาต้องทำให้การประกันคุณภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพ โดยมีแนวทาง 3 ประการ ได้แก่ 1) QD: Quality Development การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2) QE: Quality Enhancement การส่งเสริมคุณภาพการศึกษา และ 3) QF: Quality Framework กรอบการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งถ้าครู อาจารย์ หรือสถานศึกษาสามารถดำเนินการได้สามข้อดังกล่าว จะเป็นการ “การก้าวข้ามขีดจำกัด” จากปัญหาก็จะกลายเป็นประสบการณ์และข้อค้นพบที่ดี โดยการประกันคุณภาพการศึกษาที่ดีจะช่วยให้มองทะลุเข้าใจถึงแก่นของปัญหา และข้อจำกัดต่างๆ จะคลี่คลาย ตลอดจนครูต้องวางแผนการสอน จัดการการสอน ตรวจสอบการสอน และดำเนินการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (PDCA) อย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนวัฒนธรรมคุณภาพได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่าด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพภายนอกและทำการประเมินผลการจัดการศึกษา เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ ด้วยการพัฒนาวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องเพื่อเป็นมาตรฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนั้นการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษานั้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญของประเทศไทย ที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานอย่างแท้จริง เพื่อที่จะนำมาพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศไทยได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการประชุมได้ฟรี ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th