โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดตัว “สาระความรู้เพื่อคนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์” ตีแผ่ปัญหามอร์เตอร์ไซค์ในประเทศไทยทั้งคนขี่ คนซ้อน คนซื้อ ไปจนถึงคนเดินเท้า เผยข้อมูลน่าตกใจ คนไทยถูกรถจักรยานยนต์ชนเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ไม่รวมกว่าครึ่งของคนที่ตายจากรถจักรยานยนต์ ที่พบว่าเป็นการบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื่องจากไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยที่เพียงพอ
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ และหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า โครงการฯได้จัดทำเอกสาร “สาระความรู้เพื่อคนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์” เป็นการรวบรวมความรู้ ที่เข้าถึงง่าย อ่านเข้าใจง่าย สำหรับคนไทยที่ใช้รถจักรยานยนต์และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ คนซ้อนท้าย คนซื้อรถจักรยานยนต์ คนเดินเท้าและ ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่น โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆเป็นผู้เขียนและรวบรวมสาระความรู้ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น รศ. ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ,ดร.อนุชิต กลับประสิทธิ์ , อาจารย์ชฎาพร สุขสิริวรรณ ,คุณพิกุลทอง วงศ์อ้าย ,คุณพรเทพ ขวัญใจ ฯลฯ “การจัดทำเอกสารชุดนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับคนไทยปลอดจากภัยรถจักรยานยนต์ มุ่งเน้น ที่กลุ่มอายุ ตั้งแต่อายุ6-7 ปี ไปจนเกิน 60 ปี เนื่องด้วยความเสี่ยงที่จะตายของผู้ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ เมื่อ เกิดอุบัติเหตุจะสูงกว่ายานพาหนะอื่น 24-37เท่า”
คุณหมอชไมพันธ์ บอกและว่า ปัจจุบันผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไทย (รวมขับขี่และโดยสาร) ตาย 1 คน ทุก 37 นาที เป็นที่หนึ่งของโลก หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย กล่าวว่า มีรายงานเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บรุนแรงพิการหรือตายจาก อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในสถานการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง หลายส่วน คือ 1. คนขับขี่รถจักรยานยนต์ไทยแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างชัดเจนในเรื่องอายุที่น้อยมากแต่เริ่มขับขี่ยานพาหนะที่มีขนาดเครื่องยนต์และความเร็วที่สูงกว่าประเทศอื่น 2. คนซ้อนรถจักรยานยนต์ มีตั้งแต่ 1 คนไปจนถึง ที่บางครั้งมากถึง 3-4 คน การซ้อนอย่างอันตรายผิด กฎหมาย มักเกิดเหตุรุนแรงจนพิการหรือตายเป็นกลุ่ม ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น 3. คนซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อให้ลูกหลานใช้ไปเรียนหนังสือ หรือ ให้ภรรยาทำธุระโดยอาจไม่ทราบว่า ความเสี่ยงของการใช้รถจักรยานยนต์ แม้จะเป็นรถจักรยานยนต์รุ่นครอบครัวที่มีซีซีต่ำสุดที่มีขาย (110-115 ซีซี) แต่ทำความเร็วได้สูงกว่าศักยภาพในการควบคุมของผู้เริ่มขับขี่ ซึ่งมักมีการบาดเจ็บ ในขณะเกิดเหตุ
4. คนเดินเท้าในไทยถูกชนโดยรถจักรยานยนต์ถึงแก่ชีวิตมากกว่าจากยานพาหนะอื่น การเสียชีวิต ดังกล่าวเป็นลำดับสูงสุดของประเทศไทย 5. คนขับขี่รถอื่นและใช้ถนนร่วมกับรถจักรยานยนต์ พบว่าในอุบัติเหตุที่ชนกับรถจักรยานยนต์มีประมาณ ครึ่งหนึ่งที่รถจักรยานยนต์เป็นฝ่ายผิด อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ขับขี่รถอื่นซึ่งเป็นฝ่ายผิด และมักให้ข้อมูลว่าไม่ เห็นรถจักรยานยนต์หรือถูกรถจักรยานยนต์ตัดหน้า สาระความรู้นี้จะตั้งอยู่บนฐานข้อมูลทางวิชาการ ประกอบกับประสบการณ์จริงของทีมช่างเชี่ยวรถจักรยานยนต์และเครือข่ายผู้รับผลกระทบจากรถจักรยานยนต์ในบริบทของชีวิตบนถนนไทย
อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ยังบอกด้วยว่า สถานการณ์ด้านรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีความซับซ้อนมาก ตั้งแต่คนขับขี่ คนซ้อน คนซื้อ คนที่ใช้ถนน ไปจนถึงคนเดินเท้า มีข้อมูลว่าคนเดินเท้าในไทยถูกชนโดยรถจักรยานยนต์จนถึงแก่ชีวิตมากกว่าจากยานพาหนะอื่น การเสียชีวิต ดังกล่าวเป็นลำดับสูงสุดของประเทศไทย เช่นเดียวกับ. คนขับขี่รถอื่นและใช้ถนนร่วมกับรถจักรยานยนต์ พบว่าในอุบัติเหตุที่ชนกับรถจักรยานยนต์มีประมาณครึ่งหนึ่งที่รถจักรยานยนต์เป็นฝ่ายผิด ซึ่งส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าไม่เห็นรถจักรยานยนต์หรือถูกรถจักรยานยนต์ตัดหน้า นี่คือบริบทที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของอุบัติเหตุจักรยานยนต์ในประเทศไทย
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวอีกว่า ในสาระความรู้ชุดนี้ ยังได้ให้ข้อมูลในเรื่องของการบาดเจ็บที่ศรีษะของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่พบว่า มากกว่า 50% ของผู้เสียชีวิต จากรถจักรยานยนต์ ที่มีการศึกษาทบทวนข้อมูลอุบัติเหตุในอดีต เกิดบาดเจ็บที่ศีรษะ อีกทั้ง การใช้ความเร็วของรถที่มากกว่าขนาดซีซีของรถรวมถึงการชนท้ายรถที่จอดข้างทางอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะการขับขี่จักรยานยนต์ในช่วงกลางคืน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการใช้รถจักรยานยนต์ปลอดภัยได้ที่ ลิงค์ https://motorcyclerider.net/category_detail.php?page=home&id=179 และ Motorcycle Safety Motorcycle Safety motorcyclerider.net หรือที่เว็บไซท์โครงการ https://www.facebook.com/motorcyclesafetyth , https://www.facebook.com/mcsafetymove22/ ,https://motorcyclerider.net