ล่องใต้ แลผ้าไทย.. งานย่านลิเภา.. สานต่อภูมิปัญญาบรรพบุรุษ

ท่ามกลางกระแส Soft Power ซึ่งเป็นความพยายามดึงจุดเด่นด้านด้านศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีไทยมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าส่งออก เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่เศรษฐกิจชุมชน สังคมและประเทศชาติของเรา ตามแนวทางของรัฐบาลให้ความสำคัญกับ 5F ได้แก่ อาหาร(Food) ภาพยนตร์(Film) แฟชั่น(Fashion) ศิลปะป้องกันตัว (Fighting)และเทศกาลประเพณี (Festival) สำหรับ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ Sacit ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพ สร้างและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืนได้ขานรับเพื่อใช้ Soft power ทำให้กระแสงานหัตถกรรมไทยคึกคักขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในการสืบสาน ต่อยอด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับความยั่งยืน

และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย( Sacit )


ล่าสุดช่วงระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา Sacit ได้จัดกิจกรรมพาคณะสื่อมวลชนลงใต้ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชมผลงานครูช่างหัตถกรรมในหลายพื้นที่ งานด้านผ้ายกเมืองนคร ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติและการจักสานย่านลิเภา เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูในถิ่นภาคใต้ และถ่ายทอดงานหัตถศิลปีไทยทรงคุณค่า ที่เป็นเอกลักษณ์ทาง ภูมิปัญญาที่สืบสานผ่านกาลเวลา
คุณนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า sacit มีภารกิจสำคัญในการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสืบสานและรักษาภูมิปัญญาเทคนิคเชิงช่างให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย จึงจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูในถิ่นภาคใต้ และการถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ไทยทรงคุณค่า ที่เป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่สืบสานผ่านกาลเวลา
ซึ่งที่ผ่านมา sacit ได้เดินหน้าผลักดันหัตถกรรมไทย ต่อยอดภูมิปัญญาสู่การยกระดับพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรู้จักการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างคุ้มค่า เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบต่างๆ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกทั้งยังเดินหน้าพัฒนางานหัตถกรรมไทยอันทรงคุณค่าคู่ขนานระหว่างงานอนุรักษ์แบบดั้งเดิมและร่วมสมัย สนับสนุนสินค้าแฟชั่นที่ไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม มีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สอดรับต่อเมกะเทรนด์ (Mega Trends) ผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจสินค้าแนวรักษ์โลก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ผลิตอย่างใส่ใจ มีเอกลักษณ์ ไม่ตามกระแส และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



จุดแรกที่เดินทางไปได้แก่ ผ้ายกเมืองนคร กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมี ครูวิไล จิตรเวช ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ให้การต้อนรับพร้อมเปิดเผยถึงการต่อยอดงานผ้ายกเมืองนครว่า เป็นผ้าในราชสำนักของชาวเมืองนครศรีธรรมราชที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นับเป็นหนึ่งในหัตถกรรมล้ำค่าที่สืบสานกันมายาวนานคู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นผ้าทอลายโบราณ เช่น ลายพิกุลเถื่อนดอกลอย และลายพิกุลก้านแย่ง อีกทั้งมีการพลิกแพลงพัฒนาลวดลาย เพิ่มเติม อย่างลายเกร็ดพิมเสน ที่นำลวดลายต่าง ๆ มาทอไว้ในผืนเดียว เช่น ลายกรวยเชิง 3 ชั้น, ลายหน้ากระดาน , ลายขลิบพิมเสน , ลายช่อแทงท้อง เป็นต้น พร้อมทอสังเวียนรอบผืน ทำให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาด สอดรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน และถือเป็นการสืบสานต่อยอดงานผ้ายกเมืองนครให้ยั่งยืน
“การทำงานต้องนี้เพื่อต้องการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ายกเมืองนคร โดยมีแรงบันดาลใจจากเมื่อครั้งที่ทำงานเป็นช่างทอของกลุ่มศิลปาชีพบ้านตรอกบางแค ซึ่งสมเด็จพระพันปีมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อมุ่งเพิ่มรายได้ให้ราษฎรในพื้นที่ และฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองในภาคใต้ไม่ให้สูญหายไป ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาสนใจทอผ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดโควิดที่ผ่านมา มีหลายคนตกงาน เดินทางกลับบ้าน และเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค เข้ามาเรียนรู้ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 7,000 – 15,000 บาทต่อเดือน และสูงสุด 20,000 บาท นอกจากนี้การสนับสนุนของ sacit ทั้งให้องค์ความรู้และด้านการตลาดทำให้ผ้ายกเมืองนครกลับมาเป็นที่ต้องการของตลาดอีกครั้ง”

จุดที่ 2 ไปกลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง ตั้งอยู่ที่ ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นศูนย์การเรียนรู้การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวคีรีวงที่คิดค้นโดย ครูอารีย์ ขุนทน ครูช่างหัตถศิลปหัตถกรรม ปี 2563
ครูอารีย์ ได้ออกมาให้การต้อนรับพร้อมกล่าวถึงที่มาของการสืบสานเทคนิคย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติว่า เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านหมู่บ้านคีรีวงที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่ได้คิดค้นนำพืชพรรณต่างๆ ในชุมชนมาใช้ทำสีย้อมผ้า เช่น เปลือกไม้ ใบ ผล ฝักสะตอ ผลเงาะ และไม้ขนุน และเทคนิคการมัดย้อมให้เกิดลวดลายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวคีรีวง คือ การสร้างลวดลายด้วยการมัดผ้ากับไม้ไผ่เหลาซื่เล็ก และงานผ้าบาติกที่เขียนเทียนด้วยมือ ที่วาดลวดลายจากธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น ลายฝักสะตอ ลายสายน้ำ ลายภูเขา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสีสันของผ้าย้อมสีธรรมชาติจากหมู่บ้านคีรีวงที่ให้ความโดดเด่นสวยงามไม่เหมือนใคร
ทั้งนี้กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติคีรีวงตั้งขึ้น เมื่อปี 2539 เพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้คนในชุมชนและสืบสานงานผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ขณะเดียวกับยังสร้างแบรนด์ผ้าบาติก Kiree เป็นของตัวเอง โดยมีทายาทที่เป็นคนรุ่นใหม่มาช่วยงาน ช่วยสร้างสรรค์ผ้าบาติกคีรีวงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นและแปรเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างเพื่อต่อยอดธุรกิจไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋า และอื่นๆ เพื่อต่อยอด สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน



ในตอนท้ายครูอารีย์ยังได้ฝากถึงผู้ที่สนใจงานหัตถกรรม ไม่ว่าจะงานตัวไหน ที่เป็นฝีมือของคนไทย เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น ของชุมชน อยากให้คนไทยสนับสนุนกัน เพราะอย่างน้อยได้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ผลิต ภูมิปัญญาตัวนี้ถ้าเขายังอยู่ได้ เขาก็สามารถผลิตต่อเนื่องได้ ก็จะสามารถรักษาต่อไว้ได้ และเกิดการถ่ายทอด จากรุ่นสู่รุ่น เด็กรุ่นใหม่ที่ไปศึกษาต่างถิ่นแล้วกลับมาบ้าน ถ้าเขามีพื้นที่ในเรื่องของการทำกิจกรรม เขาจะกลับมาอยู่กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย โดยนำความรู้ที่ร่ำเรัยนมาผสมผสานองค์ความรู้ดั้งเดิม ของบรรพบุรุษของเรา เกิดการต่อยอด สร้างรายได้ ที่จะสามารถสร้างความมั่นคงห้กับชีวิตได้ อยากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนทุกๆงานหัตกรรม ที่เป็นฝีมือคนไทย
สำหรับผู้สนใจสามารถ แวะมาเยี่ยมชมได้ที่กลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ คีรีวง โทร. 0869467776 หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ https://www.facebook.com/KireecraftNaturalColors


สำนักสื่อสารภาพลักษณ์และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย




จุดสุดท้ายไปเยี่ยมชมกระเป๋าย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน ตั้งอยู่เลขที่ 136/1 ม.7 ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดย คุณนภารัตน์ ทองเสภี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ทายาทของคุณแม่ ครูสุเจนจิต ทองเสภี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 ให้การต้อนรับ






คุณนภารัตน์ กล่าวว่า เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นอีกหนึ่งหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตเครื่องจักสานนี้ใช้พืชตระกูลเฟิร์น หรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ผ่าน” พบมากในป่าภาคใต้ของไทย มีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน จึงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเครื่องจักสานย่านลิเภา โดยกลุ่มจักสานย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน จังหวัด นครศรีธรรมราช ได้สืบสานเอกลักษณ์ของหัตถกรรมไทยที่ทำจากพืชธรรมชาติในท้องถิ่นนี้ นำมาสานด้วยความประณีตจากเทคนิคการสานของบรรพบุรุษ และยังนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยการปรับให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้เป็นสินค้าที่สามารถใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน
คุณนภารัตน์ยังได้สร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ชื่อว่า Naparat นอกจากพัฒนารูปแบบกระเป๋าย่านลิเภาให้มีความร่วมสมัย เหมาะกับคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีการนำเครื่องถมเงินถมทองที่มีชื่อเสียงของเมืองนครเข้ามาใช้ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า เช่น ส่วนหูหิ้ว ตะขอเปิดปิด เป็นต้น ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูสินค้าได้ทางเพจเฟสบุ๊ค Lipao Handicraft Naparat โทร. 0895132535

งานศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ ถึงแม้กาลเวลาได้ผ่านร่วงไปแต่งานศิลปหัตถกรรมทรงคุณค่าก็ยังคงถูกสืบสานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีผู้ที่เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมที่คอยสร้างสรรค์และอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญา ดั้งเดิมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษชาวภาคใต้ไว้ไม่ให้หายสิ้นไปตามกาลเวลา