รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย จัดพิธีเปิด-รับมอบห้องเรียนโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง
กุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดพิธีเปิดและรับมอบห้องเรียนโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง และศูนย์คอมพิวเตอร์ฯ จาก บริษัท วอลท์ดีสนี่ southeast asia
ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดพิธีเปิดและรับมอบห้องเรียนโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง และศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กป่วย จาก บริษัท วอลท์ดีสนี่ southeast asia ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ และการศึกษา จึงสนับสนุนปรับปรุงสภาพแวดล้อมห้องเรียนของโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง และศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กป่วย โดยมี รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายสนับสนุนบริการ เป็นประธานเปิดงาน และ ศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และ ดร.ประภาศรี นันท์นฤมิตร หัวหน้าโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังฯ ร่วมพิธีรับมอบ ณ ตึก สก ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง และศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กป่วยฯ ก่อตั้งโดยคณาจารย์แพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ ศูนย์การพิเศษส่วนกลาง สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในวัยเรียนที่ต้องเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาเด็กขาดเรียน เรียนไม่ทัน ส่งผลให้เด็กต้องเรียนซ้ำชั้น หรือบางรายต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน เป็นการสูญเสียโอกาสทางการศึกษา
จึงจัดให้มีโครงการสอนเด็กเจ็บป่วย เพื่อให้เด็กป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือและลดปัญหาทางการเรียนที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมีพัฒนาการ และเรียนรู้สมวัยอย่างสมดุล ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ด้านสังคม และสติปัญญา การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของห้องเรียน ให้มีสภาพแวคล้อมสวยงาม จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่เด็กป่วย โดยการตกแต่งผนัง ประตู และกระจกห้องเรียน ด้วยตัวละครเอกของ เดอะ วอลต์ ดิสนีย์ รวมถึงได้สนับสนุนสื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ( Ipad) จำนวน 15 เครื่อง และให้เข้าถึงสื่อเทคโนโลยีการเรียนรู้ของบริษัทวอลท์ดีสนี่ เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าสนใจ และสนุกสนานในยุคดิจิทัล