มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมบริษัท แพนราชเทวีฯเพิ่มศักยภาพทักษะดิจิทัลอสม.
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Khon Kaen Business School : KKBS) ร่วมกับ บริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยการสนับสนุนของ กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผสานองค์ความรู้ภาคการศึกษาและสู่ชุมชน ภายใต้โครงการนำร่อง การเสริมสร้างพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเศรษฐกิจและสุขภาพ ด้วยการตลาดออนไลน์ และ AI ลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวานในชุมชน โดยมี 2 ช่วงคือ เตรียมความพร้อมทักษะการปฏิบัติการ Digital Analytic และ ช่วงกระบวนการสร้างเป็นแม่แบบ (Sandbox) เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับ อสม. กลุ่มอื่นต่อไป
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นพลังจิตอาสากลุ่มใหญ่ที่ช่วยพัฒนาด้านสุขภาพมากว่า 40 ปี ทำให้ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังสุขภาพของชุมชนที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการขับเคลื่อนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก ภายหลังวิกฤตโรคระบาดดังกล่าวและเข้าสู่การดำเนินชีวิตหลังวิถีปกติใหม่ (Next Normal) มีการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลทำให้มีเครื่องมือใหม่ในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00-15.30 น โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ณ ห้องวังเลิศ สมาร์ทคลาสรูม ชั้น 1 อาคาร BS.01 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี (KKBS) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้ลงนามในฝ่ายของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี คือ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช ตำแหน่งคณบดี ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสการพัฒนาคณาจารย์และนักศึกษาด้วยการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่และเรียนรู้จากประสบการณ์การจริงจากองค์กรธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญรวมถึงการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทำงานกับชุมชนและสังคม เพื่อพัฒนาทักษะที่หลากหลายและมีความพร้อมในศตวรรษที่ 21
ผู้ลงนามในฝ่ายของบริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คือ คุณอรรควุฒิ สุวรรณประกร ผู้อำนวยการสายการตลาดและขาย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถและทักษะด้านดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลให้แก่นักศึกษาและ อสม. จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มในการทำการตลาดออนไลน์ และการวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานการณ์จริง ทั้งนี้เพื่อสร้างรายได้ให้แก่นักศึกษาและ อสม. อีกด้วย
นอกจากนี้ ในพิธีลงนาม MOU ในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร ประธานกรรมการบริหารจัดการระบบศึกษาและวิจัยของสภากาชาดไทย มาร่วมในพิธีและยังจะได้กล่าวถึงการดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับการลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวานของ อสม. และประชาชนในชุมชน ซึ่งจะมีการพัฒนา Application และ AI มาใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ โดยพัฒนาโปรแกรมเพื่อช่วยลดการเกิดเบาหวานด้วยการออกกำลังกายมีแบบแผนตามจริต เพื่อเปลี่ยนภาวะดื้อต่ออินซูลินเป็นไวต่ออินซูลินผ่านเครื่องมือดิจิทัล มีระบบหลังบ้านที่สามารถจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลการทำงานเป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าจะทำให้ อสม. ใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น และสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวานได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สมพล สงวนรังศิริกุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะผู้วิจัย “การลดอุบัติการณ์กำเนิดเบาหวาน“ ซึ่งจะบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวานในชุมชน และเนื่องจากในพิธีลงนาม MOU ในครั้งนี้ ประธาน อสม. อำเภอเมืองขอนแก่น จะนำ อสม. จำนวนประมาณ 60 คน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและรับฟังแนวทางอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ดังนั้น คณะฯ จึงได้เรียนเชิญ คุณจรัส รัชกุล ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมพบปะและแนะนำแนวทางในการพัฒนา อสม.ทั้งทางด้านขีดความสามารถในการทำงานและด้านการดูแลสุขภาพด้วย
ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่าง คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและทักษะด้านดิจิทัลด้วยการทำตลาดออนไลน์ของนักศึกษา และ อสม. นั้น ได้เริ่มดำเนินการระยะที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน 2566 ด้วยการฝึกอบรมนักศึกษาวิชาเอกการตลาด ชั้นปีที่ 4 ให้เรียนรู้ แพลตฟอร์มผู้จัดการร้านค้า การใช้สมการ Equation Analysis/Linear Regression ในการวิเคราะห์ข้อมูล และการ Boost Post เพื่อให้มีความพร้อมและความสามารถในการถ่ายทอดการทำตลาดออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook ให้แก่ อสม. ได้ หลังจากนั้นจึงดำเนินการระยะที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยนักศึกษาที่ผ่านการอบรมแล้วได้ทำหน้าที่อบรมและพัฒนาศักยภาพการทำตลาดออนไลน์ให้แก่ อสม. โดยประกบคู่แบบตัวต่อตัวและให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด
สำหรับกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวาน (Reduce Diabetes Incidence) มีการดำเนินงานโดยกำหนดรูปแบบการออกกำลังกายที่จะสามารถลดการเกิดเบาหวานด้วยการเปลี่ยนภาวะดื้อต่ออินซูลินเป็นไวต่ออินซูลิน มีการตั้งเป้าการออกกำลังกาย โดยมีระบบการปฏิบัติงานให้สามารถแก้ปัญหาได้และมีระบบการติดต่อกลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานผ่านช่องทางออนไลน์ มีการพัฒนา AI ออกกำลังกาย ที่จะกำหนดรูปแบบการออกกำลังกายที่สำเร็จและล้มเหลวโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับเฉพาะบุคคล
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการที่นักศึกษาวิชาเอกการตลาด ชั้นปีที่ 4 ได้เข้าร่วมโครงการ นั่นคือ ทำให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถถ่ายทอดการทำการตลาดออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook ให้แก่ อสม. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสม อสม. มีความรู้ความเข้าใจในการทำตลาดออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook และสามารถนำไปลงมือปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง และส่งเสริมการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนได้ และผลลัพธ์ที่สำคัญคือ นักศึกษาและ อสม. มีรายได้จากการทำตลาดออนไลน์ อสม. มีความรู้ความเข้าใจในการออกกำลังกายเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวาน และสามารถถ่ายทอดให้คนในชุมชนมีรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อลดการเกิดเบาหวาน จึงเกิดการเรียนรู้ร่วมกันและสนับสนุนการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในชุมชน และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโครงการนี้ได้ดำเนินการสำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ จะมีการสรุปผลโครงการและถอดบทเรียนเพื่อจัดทำโมเดลการพัฒนาการเรียนรู้ของ อสม. เพื่อถ่ายทอดและขยายผลต่อไป