สอวช. – STIPI มจธ. จัดกิจกรรมรวมพลังนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม
สอวช. – STIPI มจธ. จัดกิจกรรมรวมพลังนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ชี้โจทย์สำคัญของไทยที่ต้องเร่งขับเคลื่อน พร้อมทิศทางต่อยอดการทำนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติจริง
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงาน STIP Reunion Special Night 2023 รวมพลังนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 1 – รุ่นที่ 5 ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ โดยมี ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการ STIPI และ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้กล่าวต้อนรับ จากนั้นได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “จากจุดเริ่มต้นของ STIP สู่ความยั่งยืน” โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. และผู้ช่วยศาสตราจารย์สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) อดีตผู้อำนวยการ STIPI และ ผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร STIP เป็นผู้ร่วมเสวนา
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ หลักสูตร STIP ว่า ในอดีตประเทศไทยผลิตนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงให้ทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ไปเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งพบว่า ประเทศเรายังต้องการผู้ทำนโยบาย (policy maker) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ด้วยเช่นกัน จึงเริ่มมีการส่งคนไปศึกษาต่อในเรื่องนี้มากขึ้น และเมื่อมีการจัดตั้ง สอวช. ขึ้นทำหน้าที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย ทำให้เห็นว่าเรายังขาดบุคลากรในด้านนี้ จึงได้ริเริ่มการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนานักนโยบาย วทน. ที่นอกจากจะมีองค์ความรู้ด้าน วทน. แล้ว ยังต้องสามารถออกแบบได้ว่าจะขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไปได้อย่างไร
ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงโจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย วทน. ของไทย โดยแบ่งเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้น สู่เป้าหมายการออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านการทำนวัตกรรม 2) การพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้า ยาชีวเภสัชภัณฑ์ ฯลฯ 3) ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นประเทศคาร์บอนต่ำ ที่จะเชื่อมโยงกับเรื่องการเงินการลงทุนในประเทศ รวมถึงการผลิตที่ใส่ใจเรื่องความสะอาดมากยิ่งขึ้น และ 4) โครงสร้างทางสังคม ในการขยับสถานะของกลุ่มประชากรที่อยู่ฐานรากของประเทศให้สูงขึ้น
ซึ่งการจะแก้โจทย์ทั้ง 4 เรื่องนี้ได้ จะต้องอาศัยการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบด้วย
ด้าน ดร.สิริพร ได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนานักนโยบายในอีก 5 ปีข้างหน้า จากหลักสูตร STIP ที่เริ่มต้นจากการวิจัย (policy research) ไปสู่การกำหนดนโยบาย (policy formulation) คิดว่าในขั้นต่อไป เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีหลักสูตรการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านนโยบาย (Research Development and Innovation Manager for Policy: RDI MAP) อยู่แล้ว จึงได้มีการหารือในการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ให้เป็นหลักสูตรที่ต่อเนื่องกันไป โดยหลักสูตร STIP เป็นการกำหนดนโยบายขึ้นมา แล้วหลักสูตร RDI MAP จะต้องรับโจทย์ต่อหรือมีโจทย์อื่น ๆ ของหน่วยงาน ที่จะนำไปพัฒนาออกแบบกลไก เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ในอนาคตคนกลุ่มนี้จะสามารถขับเคลื่อนงานด้านนโยบายในภาพที่ใหญ่มากขึ้นและเป็นจริงมากขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การใช้นโยบายนวัตกรรมในการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร” นำเสนอให้เห็นภาพการนำนวัตกรรมเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นรัฐที่น่าเชื่อถือ (Credible Government) ที่ประกอบด้วย 1) Empathized Inclusiveness 2) Reliable services 3) Valid Data 4) Good governance และ 5) Trusted mind อีกทั้ง ในงานยังได้มีการจัดกิจกรรมนักสืบ STIP เพื่อให้นักออกแบบนโยบายฯ ในรุ่นต่าง ๆ ได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น ได้เห็นถึงความแตกต่างและความหลากหลายของผู้เข้าร่วมหลักสูตรในแต่ละหน่วยงาน และเป็นการสร้างเครือข่ายนักออกแบบนโยบายฯ หรือกลุ่ม STIPER ที่จะเชื่อมโยงไปยังรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย