“อภัยภูเบศร จัดงานเสวนา “รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอสมองเสื่อม”
“อภัยภูเบศร จัดงานเสวนา “รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอสมองเสื่อม” นักวิจัยชี้ “อภัยบี” เป็นความหวังของโลก ช่วยแก้ปัญหาสมองเสื่อม ปลอดภัยต่อตับไต
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ จัดงานเสวนา “รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอสมองเสื่อม” ณ ศูนย์การค้า เกทเวย์ แอท บางซื่อ (Gateway at Bangsue) ชั้น 1 กรุงเทพมหานคร รณรงค์ป้องกันสองเสื่อมด้วยสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ โดยเชิญวิทยากร มาให้ความรู้ ได้แก่ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ,รศ.ดร.จันทนา บุญยะรัตน์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ทีมเภสัชกรจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้แก่ ภญ.อาสาฬา เชาวเจริญ และ ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ จากศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์, ดร.ภญ. วชิราภรณ์ ทองอ่อน หน่วยวิจัยและพัฒนา และ พท.ป.แพรวนภา ทุมหนู จากศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ กล่าวว่า “ภาวะสมองเสื่อม เป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังต้องรับมือในอนาคต เพราะสังคมได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โอกาสที่จะพบปัญหาสมองเสื่อมจึงมีโอกาสสูงมาก นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ภาวะสมองเสื่อมอาจพบได้ในวัยทำงานด้วย เนื่องจากภาวะปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน เช่น อาหารที่ปนเปื้อนไปด้วยยาฆ่าแมลงซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ชัดเจนว่า การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเหล่านี้ ทำให้สมองเสื่อม หรือภาวะเครียด และภาวะนอนหลับไม่มีคุณภาพ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สมองเสื่อมได้ ดังนั้นการป้องกันภาวะสมองเสื่อม จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายอย่างเป็นองค์รวมไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารปลอดสารพิษ พักผ่อนจิตใจและร่างกาย ทำให้นอนหลับดีมีคุณภาพ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดังนั้นทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและมีองค์ความรู้ที่จะสามารถใช้ดูแลตนเอง และคนรอบข้างได้ สิ่งที่เราเน้นย้ำ คือ ขอให้ประชาชนเลือกใช้วิธีการและผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชผักที่เป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะปัจจุบันมีหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่ายาฆ่าแมลงทำให้เกิดสมองเสื่อมได้” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว
ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า “การเสวนาครั้งนี้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าฟังเข้าใจถึงการทำงานของสมอง สาเหตุที่ทำให้สมองเสียหาย และจะป้องกันความเสียหายของสมองอย่างไร เช่น การใช้พืชผักธรรมชาติ อาหาร การปรับพฤติกรรม การออกกำลังกายที่ฝึกสมาธิและความจำ การใช้สมุนไพรตามหลักฐานงานวิจัยอย่างเหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งเรื่องสมุนไพรนั้นเรามีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรอยู่แล้วจึงชูขึ้นมาเป็นจุดเด่นของการเสวนา และปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจในการใช้สมุนไพรมากขึ้นแต่อาจจะยังขาดความรู้และประสบการณ์ที่จะเลือกใช้ให้ถูกต้อง ทั้งชนิดของพืช อายุ และส่วนของพืช เนื่องจากงานวิจัยในปัจจุบันที่เผยแพร่ออกมาเป็นภาษาวิชาการ อ่านแล้วเข้าใจยากเราจึงได้นำผู้เชี่ยวชาญมาช่วยย่อยงานวิจัยเหล่านี้ให้ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้น
ดร.สุภาภรณ์ ยกตัวอย่าง งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่าในประเทศอินเดียที่มีการบริโภคขมิ้นชันอย่างกว้างขวาง มีอัตราผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์น้อยกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงการค้นพบว่าสารเคอร์คูมินในขมิ้นชันมีส่วนช่วยเพิ่มสาร BNDF ที่ช่วยสร้างเซลล์ประสาทใหม่ ช่วยให้การทำงานของระบบประสาทและสมองให้ดีขึ้น อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนไปหาขมิ้นชันมากิน แต่ในองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สารเคอร์คูมินในขมิ้นชันนั้นละลายได้ดีในไขมัน หากนำมากินหลังอาหาร หรือ ผสมนมหรือโยเกิร์ต ก็จะได้สารสำคัญในร่างกายที่สูงขึ้น อีกชิดคือ “บัวบก” ที่มีงานวิจัยว่าช่วยลดความเครียด ปรับสมดุลอารมณ์นั้น สิ่งที่ประชาชาชนต้องรู้คือ บัวบก ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกมาก เพราะบัวบกดูดโลหะหนักจากพื้นดินได้ดี จากการสำรวจบัวบกในตลาดพบว่ามีโลหะหนักที่เกินกว่าเกณฑ์กำหนด รวมถึงสารสำคัญในพืชก็มีปริมาณต่ำกว่าที่กำหนด ซึ่งในงานครั้งนี้เราให้ความรู้เรื่องการปลูกและเก็บเกี่ยวเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองด้วย
สมุนไพรอีกชนิดที่คนไทยคุ้นเคยเช่น “ข้าว” ที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเพื่อดูแลสุขภาพ ทั้งน้ำมันรำข้าวที่มีฮอร์โมนเมลาโทนินในปริมาณน้อย ๆ ช่วยในการนอนหลับ หรือส่วนของข้าว ที่คนปัจจุบันไม่นิยมกินแล้ว เนื่องจากกลัวอ้วน แต่ข้าวเองโดยเฉพาะข้าวกล้อง มีวิตามินที่นำไปสร้างฮอร์โมนช่วยในการนอนหลับ หรืออาจนำมาทำข้าวกล้องงอก ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสวย ซึ่งงานวิจัยพบว่ามีสาร GABA ที่ช่วยทำให้นอนหลับดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่เราเผยแพร่ในงานนี้เพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้จริงๆ
ด้าน รศ.ดร.จันทนา บุญยะรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การนำตำรับยาพื้นบ้าน กลีบบัวแดง หรือ อภัยบี ที่ทำจากสมุนไพรกลีบบัวหลวง บัวบก พริกไทย ที่ได้ทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง พบว่าเป็นตำรับที่มีศักยภาพ พบการออกฤทธิ์หลายกลไก ทั้งการช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปกป้องสมอง ช่วยฟื้นฟูความจำ ลดระดับฮอร์โมนความเครียดในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งสอดคล้องกับองค์ความรู้ดั้งเดิม และผ่านการวิจัยในมนุษย์ที่มีภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment หรือ MCI ) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นก่อนภาวะสมองเสื่อมไปแล้ว พบว่ามีความปลอดภัยต่อตับและไต ขณะนี้กำลังดำเนินการต่อเพื่อศึกษาประสิทธิผลในกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเป็นตำรับยาที่เป็นความหวังในการช่วยแก้ปัญหาสมองเสื่อมให้กับประเทศ และในโลก ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ในส่วนของกิจกรรมต้านสมองเสื่อม ยังมีวิทยากรมาแนะนำการคัดกรองภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้น และการสาธิตออกกำลังกายสมองด้วยตาราง 9 ช่อง การทำเครื่องดื่มบำรุงสมองจากใบบัวบก และพิมเสนน้ำสูตรผ่อนคลายช่วยนอนหลับ รวมถึงกิจกรรมแจกต้นพันธุ์บัวบกศาลายาที่มีใบใหญ่และสารสำคัญ คือ triterpenes สูงกว่าพันธุ์ดั้งเดิมถึง 5 เท่า พร้อมวิธีการปลูกการนำไปใช้ และยังมีนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับบัวบกสายพันธุ์ต่างๆเป็นที่แรก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมเสวนาและประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ท่านที่สนใจติดตามองความรู้สามารถรับชมคลิปวีดิโอจากงานเสวนาครั้งนี้ได้ทาง ยูทูปอภัยภูเบศร และ เฟซบุคสมุนไพรอภัยภูเบศร