วช.-มหาวิทยาลัยหัวเฉียว จีน MOU พัฒนาความร่วมมือด้านวิจัย นวัตกรรม

วช. และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนาม MOU พัฒนาความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว (Huaqiao University) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ระหว่าง วช. และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ Professor Lin Hongyu รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ร่วมลงนามความร่วมมือ


พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ Professor Xu Xipeng เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามความร่วมมือจัดขึ้นระหว่างการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2566 ณ Chen Yankui Building มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ มหาวิทยาล้ยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีขึ้นตั้งแต่ ปีพ.ศ.2555 โดยได้มีความร่วมมือทางวิชาการด้านยุทธศาสตร์วิจัยไทย-จีน มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี โดยในปี 2566 วช. และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ได้ร่วมกันพัฒนากรอบความร่วมมือในเป้าหมายท้าทายใหม่ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางความร่วมมือ ที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน พร้อมมุ่งหมายให้บทบาทระหว่างจีนกับไทย ในการดำเนินการต่าง สามารถบูรณาการประเด็นทางวิชาการและวิทยาการ ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในประเด็นสำคัญ เพือนำสู่การกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย ไทย – จีน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันทั้งสองประเทศ