สทน.เจ้าภาพร่วมจัดประชุมสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย



วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ในการจัดประชุมสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย ( Forum for Nuclear Cooperation in Asia : FNCA ) โดยมีนักวิชาการระดับนโยบาย และผู้นำองค์กรทางวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์มาประชุม แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และเทคนิคการใช้ประโยชน์และการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ การประชุมจัดขึ้นที่โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุม



นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การประชุมสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียหรือ FNCA ( Forum for Nuclear Cooperation in Asia) ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 24 ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโดยเลือกสถานที่จัดประชุมที่ประเทศไทย ประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะเจ้าภาพร่วม มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม 12 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเทศสิงคโปร์ที่มาร่วมประชุมในฐานะแขกรับเชิญ FNCA เป็นเวทีของนักวิชาการ นักวิจัย ที่ทำในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาร่วมประชุม แลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในเชิงวิชาการ ความก้าวหน้าการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ ในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ ทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม เรื่องของการเกษตรคือการปรับปรุงพันธุ์พืชให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเรื่องมรดกวัฒนธรรมคือการดูองค์ประกอบธาตุต่าง ๆ ของโบราณสถาน ที่สำคัญคือเรื่องทางการแพทย์ เช่น การผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อนำไปใช้ในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนพลังงานสูง (Proton Beam Therapy)

ซึ่งเป็นการใช้ลำอนุภาคโปรตอนส่งไปยังก้อนเนื้อร้ายและปล่อยพลังงานไปที่ก้อนเนื้อนั้น เซลล์ที่แข็งแรงที่อยู่ด้านหน้าของก้อนเนื้อร้ายจะได้รับรังสีในปริมาณที่ต่ำและเซลล์ที่อยู่ด้านหลังจะไม่ได้รับรังสีเลย ซึ่งเรื่องทางการแพทย์นี้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) หรือ IAEA ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญ เป็นแสงแห่งความหวัง (Ray of Hope) ในการรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้รักษา ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากการประชุมครั้งนี้ นอกจากความก้าวหน้าในเรื่องของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทั้งในเชิงวิชาการ การพัฒนานวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ยังรวมไปถึงเรื่องการกำกับดูแลและความปลอดภัยต่าง ๆ และได้เครือข่ายความร่วมทั้งในเรื่องของวิชาการ เรื่องของการใช้ห้องปฏิบัติการ และงานวิจัยต่าง ๆ การประชุมครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ประเทศสมาชิกสามารถพูดคุยเรื่องนโยบายการวิจัยในอนาคตที่จะทำร่วมกัน โดยในอดีตประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแล้วเมื่อปี 2543 การมาในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่สามารถบอกได้ว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งพอที่จะรองรับนักวิชาการทางด้านนิวเคลียร์เหล่านี้ได้



รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เน้นในเรื่องการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ในฐานะเป็นเจ้าภาพร่วม นักวิจัยของ สทน. ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศไทยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้สนับสนุนงานด้านการแพทย์ เช่น การใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยผลิตสารเภสัชรังสีให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง การใช้เครื่องไซโคลตรอนซึ่งมีอยู่ที่ สทน. และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อผลิตยา นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยใหม่ ๆ เช่น การนำนาโนเจลมาใช้ร่วมกับสารเภสัชรังสีทำให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากที่ประชุมพอสมควร โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้า เพราะเรามีเครื่องมือ ความรู้ และมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ที่พร้อมให้บริการแก่ประชาชน สำหรับการประชุม FNCA เป็นเครือข่ายความรู้ที่สำคัญมากในการดึงประเทศต่าง ๆ ในเอเชียด้วยกันมาทำงานร่วมกัน ประเทศไทยได้รับความรู้ การแนะนำด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งในเรื่องของการแพทย์ การเกษตร การปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเป็นการยกระดับเกษตรกรรมในประเทศไทยหลายด้าน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือประเทศสมาชิกและประเทศไทยก็ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านั้นด้วย
