เริ่มแล้ว!! ประชุม PM2.5 ครั้งแรกของประเทศ “สสส.–สกสว.–ศวอ.–มช.–สภาลมหายใจเชียงใหม่”
เริ่มแล้ว!! ประชุม PM2.5 ครั้งแรกของประเทศ “สสส.–สกสว.–ศวอ.–มช.–สภาลมหายใจเชียงใหม่” สานพลังภาคี ถกประเด็น “อากาศสะอาด” หวังผลักดันนโยบายคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากฝุ่นพิษ
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ จัดการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม”
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแทบทุกพื้นที่ รัฐบาลให้ความสำคัญในการวางแผนรับมือ ป้องกัน และแก้ไขวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกปี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ประจำปี 2567” และเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือ บอร์ดฝุ่นชาติ เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดจัดทำแผนและดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบ และบูรณาการหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควัน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“และเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ มีสาระสำคัญกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการทำหน้าที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ และบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง เผาป่า เผาในพื้นที่เกษตรกรรม ก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน ตลอดจนมีเครื่องมือ หรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 พบว่า เฉพาะปีนี้ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 9 ล้านคน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพประชาชนชัดเจน สสส. ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “ลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574)” ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยพลังปัญญา สังคม และนโยบาย ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) เพื่อสนับสนุนงานวิชาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หนุนเสริมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด สานพลังความร่วมมือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แก้ไขปัญหาพื้นที่แบบองค์รวม
“การประชุมครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันของประเทศร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน วิชาการ ประชาสังคม ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ บูรณาการภายใต้เจตจำนงร่วมกันมุ่งมั่นแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันในระยะยาวและยั่งยืน ร่วมกันหาข้อสรุปนโยบายและมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศ นำเสนอต่อรัฐบาล อีกทั้งมีการระดมนวัตกรรมทางสังคม การบริหารจัดการฝุ่นควัน ไฟป่า ซึ่งจะเป็นต้นแบบขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ประสบปัญหามากยิ่งขึ้นต่อไป” ดร. สุปรีดา กล่าว