e-Commerce แข็งแกร่งต่อเนื่อง…ยืนหนึ่งบนเวทีธุรกิจ ปี 2566
กรมพัฒนาธุรกิจฯ เผย 5 ธุรกิจดาวเด่น และ 3 ธุรกิจเสี่ยงถดถอย ปี 2566 สอดคล้องเศรษฐกิจฟื้นตัวและกระแสธุรกิจรักษ์โลก ธุรกิจที่เคยซวนเซช่วงโควิด-19 ระบาด กลับมาฟื้นตัวโดดเด่นอีกครั้ง โดย e-Commerce ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องยืนหนึ่งบนเวทีธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจเสี่ยงภาวะถดถอยจะเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลกเป็นหลัก วิเคราะห์จากจำนวนจัดตั้งธุรกิจ อัตราการเลิกประกอบธุรกิจ เชื่อมโยงบริบทภายนอก เตือน!! นักธุรกิจหน้าใหม่ที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ ต้องเริ่มต้นจากความรักและชื่นชอบเป็นหลัก องค์ประกอบรอบข้าง เช่น กระแสธุรกิจ แนวโน้มการเติบโต เป็นปัจจัยเสริมไม่ให้หลงทิศทางประกอบธุรกิจ สำคัญที่สุด ต้องพร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจ…สนับสนุนเกื้อกูลจูงมือพากันเติบโต
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจเชิงลึกเพื่อเฟ้นหาธุรกิจดาวเด่น 5 ธุรกิจ และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ปี 2566 โดยใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์จากหลายภาคส่วน เช่น จำนวน/อัตราการเติบโตของการจัดตั้ง อัตราการเลิก การเพิ่มปริมาณการลงทุนของธุรกิจ (จำนวนการเพิ่มทุนจดทะเบียน) และข้อมูลจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มธุรกิจ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ เช่น สถานการณ์โควิค-19 ที่คลี่คลายลง สภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งความต้องการขั้นพื้นฐาน ความสะดวกสบายที่ตอบโจทย์คนทุกวัย การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้าน การแพทย์ทางเลือก สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีความหลากหลาย รวมทั้ง แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจในประเทศและระดับสากล
ผลจากการวิเคราะห์ฯ พบว่า ปี 2566 ธุรกิจดาวเด่นมาแรงจะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศและของโลก โดยเฉพาะธุรกิจที่เคยประสบปัญหาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาฟื้นตัวจนมีความโดดเด่นอีกครั้ง ขณะที่ ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจะสอดคล้องกับกระแสธุรกิจรักษ์โลกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยมีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล บริการ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงมูลค่าบริการและสินค้าที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมเดิม (Digital Disruption)
ปี 2566 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและมาแรง 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย
1. กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 ประกอบด้วย ธุรกิจจัดนำเที่ยว ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง โรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด สปา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 2,882 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 ทุนจดทะเบียน 7,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ รวมทั้ง มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น การประกาศยกเว้นการตรวจลงตรา (ฟรีวีซ่า) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน
2. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ประกอบด้วยธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 7,878 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ทุนจดทะเบียน 32,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนเติบโตตามมา รวมถึง มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) และการผลักดันให้ไทยเป็น “บ้านหลังที่สอง” สำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ
3. กลุ่มธุรกิจสมุนไพร เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ประกอบด้วย การปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 711 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ทุนจดทะเบียน 2,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากกระแสนิยมดูแลรักษาสุขภาพ โดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภค ส่งผลให้สมุนไพรเข้ามาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม (Health and Wellness)
4. กลุ่มธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ประกอบด้วย ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้า การผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 1,413 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ทุนจดทะเบียน 10,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ทั้งการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครือข่ายรวมอุปกรณ์ข้อมูลเชื่อมถึงกัน (Internet of Things: IoT) ในบ้านอัจฉริยะ (Smart home) หรือการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อสอดรับกระแสรถยนต์ EV ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และสนองความต้องการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
5. กลุ่มธุรกิจ e-Commerce หรือ ธุรกิจการค้าปลีกสินค้าออนไลน์ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2566 ทั้งสิ้น 1,657 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ทุนจดทะเบียน 2,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทปรับตัวขยายช่องทางการตลาดผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด และถึงแม้โควิด-19 ได้คลี่คลายลง แต่กระแสการใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจ e-Commerce เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งและสามารถยืนหนึ่งบนเวทีธุรกิจได้ทุกสถานการณ์
ขณะที่ ปี 2566 ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย
1. กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ เติบโตลดลงร้อยละ 30 ประกอบด้วย ธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิตปุ๋ยเคมี และการผลิตเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ขั้นมูลฐาน มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 146 ราย ลดลงร้อยละ 30 ทุนจดทะเบียน 748 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ได้รับปัจจัยมาจากการรณรงค์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ลดการใช้เคมีภัณฑ์ เช่น ปุ๋ยเคมี โดยเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน และลดสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดสารตกค้าง
2. กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้า หรือ ธุรกิจการค้าปลีกช่องทางออฟไลน์ เติบโตลดลงร้อยละ 12 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 1,437 ราย ลดลงร้อยละ 12 ทุนจดทะเบียน 1,943 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น การค้าปลีกออฟไลน์หรือขายของผ่านหน้าร้านจึงมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการปรับตัวทางการตลาดที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าควรขยายช่องทางการตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น และมีระบบเดลิเวอรีจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าเป็นบริการเสริม เป็นการสร้างความดำรงอยู่ของธุรกิจ และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
3. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงสันดาป เติบโตลดลงร้อยละ 5 ประกอบด้วย ธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในสถานี หรือ ปั๊มน้ำมัน การขายส่งเชื้อเพลิงแข็ง/เหลว และการทำเหมืองแร่ เหมืองแร่อโลหะและเหมืองหิน มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 481 ราย ลดลงร้อยละ 5 ทุนจดทะเบียน 1,244 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยหลักมาจากผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก
ธุรกิจที่มีความโดดเด่น 5 ธุรกิจ และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ เป็นการวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลจากองค์ประกอบรอบด้าน เป็นข้อมูลเสริมที่ช่วยผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนประกอบธุรกิจควรมีจุดเริ่มต้นมาจากความรักและความชื่นชอบในธุรกิจนั้นๆ เป็นหลัก เพราะจะเป็นการช่วยเพิ่มแรงขับ ความอดทน และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจที่ตัดสินใจลงทุน ส่วนองค์ประกอบอื่น เช่น กระแสธุรกิจ แนวโน้มการเติบโต เป็นปัจจัยสนับสนุนไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจหลงทิศทาง ทั้งนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมือและปรับตัวกับทุกการเปลี่ยนแปลง ควรนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการธุรกิจ และที่สำคัญ คือ ต้องมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งที่พร้อมสนับสนุนเกื้อกูลและจูงมือพากันเติบโตต่อไป” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th