สสส.-เครือข่ายงดเหล้า สานพลังภาคีสร้างสุขภาวะทั่วไทย

สสส.-เครือข่ายงดเหล้า สานพลังภาคีสร้างสุขภาวะทั่วไทย ศวส. เผยผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 10.2 ล้านคน ประหยัดเงินค่าซื้อเหล้า 4,200 ล้านบาท 66.3% ระบุ เลิกดื่มสุขภาพร่างกาย-จิตใจดีขึ้น ลดค่าใช้จ่าย เดินหน้าชวนงดเหล้าต่อหลังออกพรรษา-ปีใหม่ New Me Sobriety Celebration หวังสร้างสังคมสุขปลอดเหล้า ยกระดับคุณภาพชีวิต

วันที่ 7 ธ.ค. 2566 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีแถลงข่าว “ต้อนรับคนหัวใจเพชร ร่วมสร้างสรรค์สังคมสุขปลอดเหล้า” ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. เน้นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก งานรณรงค์งดเหล้านับเป็นโจทย์สำคัญเชื่อมโยงสู่มิติทางสุขภาพอื่น ๆ สามารถสร้างแนวทางป้องกันและลดการเจ็บป่วยจากปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ จากการประเมินผลโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2566 ใน 12 จังหวัดทุกภูมิภาค โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบมีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 10.2 ล้านคนจากจำนวนผู้ที่ดื่มทั้งหมด 24.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 7.7 แสนคน แบ่งเป็นผู้งดดื่มตลอดพรรษา 21.3% (ประมาณ 5.3 ล้านคน) ผู้ที่งดบางช่วง 9.1% (ประมาณ 2.3 ล้านคน) และผู้ที่ไม่งดแต่ลดการดื่มลง 10.5% (ประมาณ 2.6 ล้านคน) โดยกลุ่มตัวอย่าง 66.3% ระบุว่า ได้รับผลดีจากการลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา โดยเฉพาะสุขภาพร่างกาย-จิตใจดีขึ้น รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยคนละ 1,506.97 บาท โดยรวมของประเทศประมาณ 4,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าจากค่าใช้จ่ายในการดื่มที่ลดลง

“สสส. มุ่งหวังให้โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชน ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ชุมชน สังคม ช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อมปลอดเหล้า ส่งผลที่ดีต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างสังคมสุขภาพดี มีความสุขมากขึ้น” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า สคล. ร่วมกับ สสส. รณรงค์ส่งเสริมให้คนในสังคมห่างไกลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างพฤติกรรมด้านสุขภาพ ควบคู่ไปกับการจัดสภาพแวดล้อม นำสู่ Healthy Sobriety หรือสังคมสุขปลอดเหล้า เราเลือกได้ คนในสังคมสามารถเลือกใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ถูกครอบงำด้วยสิ่งเสพติด เป็นความสุขที่แท้จริง ผลการดำเนินโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2566 เกิดกลุ่มสตรีพลังเพชร 92 แห่ง มีชุมชนสู้เหล้าและชมรมคนหัวใจเพชร (งดเหล้ามากกว่า 3 ปี) 1,010 แห่ง และองค์กรร่วมรณรงค์ชวนช่วยชมเชียร์ 90 แห่ง มีผู้เข้าร่วมปฏิญาณตน จากชุมชนและอำเภอ ร่วมติดตามชวน ช่วย ชมเชียร์ 26,622 คน

นางสาวพิมพ์มณี เมฆพายัพ ผู้จัดการโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา สคล.กล่าวว่า จากการรณรงค์ฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าร่วมโครงการ 1.โครงการติดได้สุขใจด้วย 12 กิจกรรมฟื้นฟู คืนดีกับร่างกาย-จิตใจให้สมดุล มีผู้เข้าร่วม 100 กว่าคน เน้นรณรงค์งดเหล้าทุกเพศ ทุกวัย ทุกไลฟ์สไตล์ 2.โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารและสร้างเสริมสุขภาวะหัวใจเพชร มีผู้เข้าร่วม 100 กว่าคน เพื่อเป็นนักสื่อสารสร้างแรงบันดาลใจ กระบวนกร และวิทยากร 3.โครงการพัฒนากระบวนกรหลักสูตรเสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต ด้วยอาหารและสมุนไพรในท้องถิ่น ทั้งนี้ สคล. ยังคงรณรงค์งดเหล้าตลอดทั้งปี โดยช่วงออกพรรษาจนถึงเทศกาลปีใหม่ เตรียมรณรงค์แนวคิดNew Me Sobriety Celebration เชิญชวนประชาชนตั้งเป้าหมายสู่ชีวิตใหม่สุขปลอดเหล้า ภายใต้กิจกรรม SoBrink แบ่งปันสูตรม็อกเทลจากสมุนไพร สาธิต Sobriety Bar และการจัดกิจกรรมให้คนมาแฮงค์เอ้าท์แทนวงเหล้า สนใจสมัครเข้าร่วมผ่านเพจ Healthy Sobriety

ด้านนายจิตรติ รามเนตร ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่าการทำงานงดเหล้าในพื้นที่ประสบความสำเร็จ โดยทางอำเภอเน้นให้ผู้นำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เชิญชวนงดเหล้า มีผู้เข้าร่วมงดเหล้าเฉพาะในอำเภอเมือง 120 คน ประหยัดค่าใช้จ่าย 431,640 บาท โดยใช้ 3 กลยุทธ์คือ 1.เปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิด ชี้ให้เห็นและตระหนักโทษภัยของเหล้า 2.ปรับสิ่งเร้า และบริบทของสังคมแวดล้อมที่ควรจะเป็น เช่น ควบคุมร้านค้าไม่ขายเหล้าในพื้นที่ห้ามขาย 3.พัฒนาที่จิตใจ ชุมชน บ้าน วัด ราชการ โรงเรียนต้องมีส่วนร่วม โดยทางอำเภอร่วมกับ อปท. มีการตั้งด่านตรวจ ปฏิญาณตนงดเหล้า บันทึกข้อตกลงร่วมกัน กำหนดให้ใน 1 ตำบล ต้องมี 1 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ (ทั้งหมด 20 ตำบล) และ 124 หมู่บ้าน ๆ ละ 1 คนร่วมขับเคลื่อนงานหลัก โดยให้แพทย์ประจำตำบลเป็นมิสเตอร์งดเหล้า และมีการสร้างระบบ database ในการบริหารจัดการเพื่อติดตามผล
นางรำไพ ชาวระนอง พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.เหล่ากลาง อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร กล่าวว่า ในช่วงเข้าพรรษาได้ขับเคลื่อนงานร่วมกันทั้ง อสม. ผู้นำชุมชน และรพ.สต. มีจุดแข็งในการทำงานคือ มีแกนนำขับเคลื่อนงานที่เข้มแข็ง ทำงานด้วยจิตวิญญาณ มีช่องทางสื่อสารการทำงานในกลุ่มกันตลอดเวลา ช่วงเข้าพรรษามีผู้ร่วมงดเหล้าครบ 3 เดือนทั้งอำเภอ จาก 7 ตำบล 79 หมู่บ้าน รวม 1,600 คน สามารถประหยัดค่าเหล้าได้ 1.2 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งใจจะร่วมขับเคลื่อนงานงดเหล้าในพื้นที่ต่อไป แม้จะเป็นพยาบาลเพียงคนเดียวในพื้นที่ที่ต้องดูแลประชากรมากว่า 4,000 คน แต่ไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้สึกว่าเป็นงานหนัก จากการทำงานช่วยให้เลิกเหล้าได้สำเร็จมีคนหัวใจเพชรเลิกเหล้า 14 คน ทำให้ครอบครัวเขามีความสุข มีสุขภาพที่ดี ตนก็ภูมิใจสุขใจมาก