ประชุมวิชาการคณะพยาบาลศาสตร์ครั้งที่ 33 “การพยาบาลแม่นยำ:บทบาทที่ท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการดูแล”

คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชฯ และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช จัดประชุมวิชาการคณะพยาบาลศาสตร์ครั้งที่ 33 เรื่อง “การพยาบาลแม่นยำ: บทบาทที่ท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการดูแล


วันนี้ เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมคณะพยาบาลศาสตร์ครั้งที่ 33 เรื่อง “การพยาบาลแม่นยำ: บทบาทที่ท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการดูแล (Precision Nursing: Challenges Role in improving quality of care)” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. เอมพร รตินธร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมครั้งนี้


รองศาสตราจารย์ ดร. เอมพร รตินธร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำคัญของการพยาบาลแม่นยำว่า เป็นมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพของบุคคลทั้งการระบุปัญหา การป้องกันและแผนการดูแลที่ออกแบบเฉพาะบุคคล โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างยีน สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของบุคคล เพื่อกำหนดเป้าหมายการพยาบาลให้มีความแม่นยำเหมาะกับลักษณะเฉพาะของบุคคลแต่ละราย โดยการพยาบาลแม่นยำสามารถครอบคลุมประเด็นข้อมูลทางพันธุกรรม การบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ แผนการพยาบาลที่เหมาะสม การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย และการพิจารณาด้านจริยธรรม ทั้งนี้ การพยาบาลแม่นยำมีศักยภาพในการปฏิวัติการดูแลสุขภาพ โดยการเปลี่ยนจากการปฏิบัติตามแนวทางแบบเดิมที่เหมาะสมกับทุกคน ไปสู่รูปแบบการดูแลที่เป็นเฉพาะบุคคลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับบุคคล และสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการได้อย่างแม่นยำชัดเจนมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประเด็นที่มีความสอดคล้องกับนโยบายทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ในด้านบริการสุขภาพแม่นยำ ซึ่งพยาบาลเป็นบุคลากรทางสุขภาพที่เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ หากพยาบาลได้รับการเตรียมให้มีสมรรถนะที่พร้อมในการให้บริการสุขภาพตามนโยบายด้านการบริการสุขภาพแม่นยำ จะสามารถประสานความร่วมมือกับทีมสหสาขาวิชาชีพและผู้ใช้บริการเพื่อจัดระบบบริการสุขภาพแม่นยำได้อย่างไร้รอยต่อ

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาพยาบาลชั้นนำของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงพัฒนาการของวิทยาการก้าวหน้าด้านการพยาบาลแม่นยำ ซึ่งบุคลากรพยาบาลในระบบสุขภาพจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจแนวคิด นโยบายระบบสุขภาพแม่นยำ และการประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการพยาบาลแม่นยำได้มากยิ่งขึ้น โดยคณะฯ มุ่งเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายระบบสุขภาพแม่นยำ โดยการส่งเสริมให้พยาบาลไทยมีสมรรถนะในการให้การบริการพยาบาลแม่นยำให้กับประชาชน จึงได้ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช จัดประชุมคณะพยาบาลศาสตร์ครั้งที่ 33 เรื่อง “การพยาบาลแม่นยำ: บทบาทที่ท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการดูแล (Precision Nursing: Challenges Role in improving quality of care)” โดยช่วงเดือนมกราคมของทุกปี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีกำหนดจัดประชุมวิชาการคณะพยาบาลศาสตร์เป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานกำเนิดโรงเรียน ซึ่งในปีนี้คณะฯ มีอายุครบ 127 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567

การจัดประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 450 คน ประกอบด้วย อาจารย์พยาบาล พยาบาลวิชาชีพ นักศึกษาพยาบาล ระดับบัณฑิตศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพยาบาลหลักสูตรเฉพาะทาง และคณะฯยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงจากภาครัฐ และเอกชน มาร่วมบรรยาย อภิปราย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อสร้างความความรู้ความเข้าใจในนโยบายระบบสุขภาพแม่นยำและการพยาบาลแม่นยำ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การประยุกต์ใช้การพยาบาลแม่นยำสู่นวัตกรรมการพยาบาล การวางแผนการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการเพื่อสังคม รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้เข้าร่วมการประชุม ในการเสริมสร้างศักยภาพการพยาบาลแม่นยำไปสู่การพัฒนาสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป