อภ. -JICA ร่วมผลักดันผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงของไทย
อภ. -JICA ร่วมผลักดันการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงของประเทศไทย
องค์การเภสัชกรรม (GPO) ร่วมมือกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ผลักดันการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงของประเทศไทย ที่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และขยายขนาดการผลิตรองรับสถานการณ์โรคระบาดฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมองค์การเภสัชกรรม ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ Mr. Kazuya Suzuki, Chief Representative JICA Thailand Office ได้ร่วมแถลงความร่วมมือโครงการ “Development of Domestic Cell-based Vaccine/Biologics Production Capacity in Thailand” ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) โดยมีผู้แทนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) และผู้แทนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) ให้เกียรติร่วมงาน ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนของประเทศไทย
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือกับ JICA ครั้งนี้ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย และเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยงนี้จะทำให้พัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขยายขนาดการผลิตเพื่อให้รองรับสถานการณ์โรคระบาดฉุกเฉิน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก โรคโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต เป็นต้น โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ Ms. Kitagawa Yuki, Senior Representative of JICA Thailand Office ได้มีการลงนามในเอกสารแสดงกรอบความร่วมมือ (Minutes of Meetings) และบัดนี้เอกสารแสดงรายละเอียดการดำเนินงานตามโครงการ (Record of Discussions) ได้รับการอนุมัติจาก JICA และองค์การเภสัชกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปี 2567-2568 เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเร่งพัฒนาทักษะ สร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากรองค์การเภสัชกรรม และสนับสนุนการพัฒนาโครงการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนใหม่ของประเทศ
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้มีเป้าหมายหลัก คือการสร้างศักยภาพและทักษะความเชี่ยวชาญของนักวิจัยในโครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยง ขององค์การเภสัชกรรมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยทาง JICA จะจัดหาและส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมายังองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิคของการพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนจากเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงแก่ผู้ปฏิบัติงานองค์การเภสัชกรรม วางเป้าหมายการดำเนินโครงการเพื่อสร้างทักษะสำหรับการขยายขนาดการผลิตวัคซีนสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
Mr. Kazuya Suzuki หัวหน้าผู้แทนสำนักงาน JICA ในประเทศไทย กล่าวว่า JICA มุ่งมั่นสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศไทยในการสร้างความมั่นคงของระบบสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพ ซึ่งโครงการนี้สอดรับกับจุดประสงค์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดย JICA เชื่อว่าโครงการนี้จะส่งเสริมการผลิตวัคซีนของประเทศไทยในอีกหลายปีข้างหน้าได้อย่างมั่นคง จะมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ที่เน้นการพึ่งพาตนเองและการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์การระบาดในอนาคต
“ความร่วมมือในครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ผ่านการแบ่งปันความรู้และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี” Mr. Kazuya กล่าว