6 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ ผ่านการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยสากล ‘GBAC Star’
6 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ ผ่านการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยสากล ‘GBAC Star’ ยกระดับท่องเที่ยวไทยสู่สากล
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จับมือ นิด้า และ บพข. พัฒนาผู้ประกอบการก้าวสู่มาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star หวังช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยสู่สากล
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 ที่ ศูนย์การประชุมบางแสนเฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์(นิด้า) บริษัท ซีพารท์เนอร์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ประกอบการ ร่วมประกาศความสำเร็จ “โครงการการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมมอบใบรับรองมาตรฐาน GBAC Star กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นภารกิจเชิงรุก ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของไทยให้ได้ตามมาตรฐานสากล การนำมาตรฐานระดับสากลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทยในงานวิจัยนี้ นับเป็นมิติหนึ่งของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เป็นรูปธรรม ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทยเข้มแข็งพร้อมรับการเดินทางครั้งใหม่ของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางทั้งจากในและต่างประเทศ
“มาตรฐาน GBAC Star เป็น 1 ใน 2 มาตรฐานที่เป็นสากล อีกอันคือ ISO โดยเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในทวีปอเมริกา และแน่นอนว่า ทางญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็จะให้การยอมรับด้วยเช่นกัน สถานประกอบการใดมีตราสัญลักษณ์นี้ เท่ากับว่าจะได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งที่เดินทางเป็นกลุ่มทัวร์ ปัจจุบันยังพบว่า ผู้เดินทางส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น และมีความเปราะบาง ในปีนี้เรามีผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานรวม 9 ราย ปีนี้ 6 ราย ปีที่แล้ว 3 ราย ทำให้ไทยมีหมุดปักเอาไว้บนแผนที่โลก ว่ามีมาตรฐานขึ้นเว็บไซต์ GBAC Star” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี กล่าวว่า การได้เข้าร่วมโครงการวิจัยครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ และยังเป็นไปตามแนวคิดของจังหวัดที่ต้องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ และผู้ประกอบการในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการที่ผู้ประกอบการของจังหวัดอย่าง ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GBAC Star ครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนให้นโยบายของจังหวัดในการพัฒนาพื้นที้ท่องเที่ยวให้รองรับการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพเป็นรูปธรรมได้ต่อไป
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า การส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการด้วยการบูรณาการร่วมมือกันกับภาคส่วนต่าง ๆ ถือเป็นบทบาทสำคัญของ สกสว. และ บพข. โดยเฉพาะการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การดำเนินโครงการวิจัย จึงถือได้ว่าเป็นต้นแบบทั้งในด้านการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นต้นแบบในการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการของไทย
“บทบาทของเราคือการดูแลแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนึ่งในนั้นคือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เรามองว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกระดับผู้ประกอบการจนได้รับมาตรฐาน จะเป็นการยกระดับระบบนิเวศของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้ง การขนส่ง โรงแรมที่พัก ศูนย์ประชุม สปา การท่องเที่ยวเชิงกีฬา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเข้ามาร่วมโครงการเป็นอย่างดี” ผศ.สุภาวดี กล่าว
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข และผู้ประกอบการศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี กล่าวว่า มาตรฐาน GBAC Star ถือว่าเป็นมาตรฐานระดับโลกที่รับรองเกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัย ในการให้บริการท่องเที่ยวและภาคส่วนอื่นๆ โดยศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกในอาเซียน ซึ่งสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยชาวต่างชาติ ภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานที่เข้ามาใช้บริการในการประชุม รวมทั้งกระตุ้นในผู้ประกอบการรักษามาตรฐานนี้ให้ได้ต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้รับบริการกลุ่มใหม่ๆ ที่กังวลในเรื่องสุขอนามัยในการใช้บริการ
“หากประเทศไทยเรามีหน่วยงานหรือธุรกิจที่ได้เข้าร่วมการประเมินมาตรฐาน GBAC Star จำนวนมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่ทำให้ผู้ที่เข้ามาเยือนประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มาเยี่ยมเยือน จะสามารถตอบรับได้ทุกกลุ่ม ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันชายหาดบางแสนยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนคนไทยมาเที่ยวมากอันดับหนึ่ง แต่ก็มีนักท่องเที่ยวช่างชาติ เช่น จากอเมริกา ยุโรป เกาหลี จีน ที่เข้ามาท่องเที่ยวในลักษณะของ Free Individual Traveler (FIT) หรือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพักตามลำพัง และเลือกมาที่บางแสนมากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น มาตรฐาน GBAC Star จะช่วยให้บางแสนเป็นที่รูจักในระดับสากลมากขึ้นด้วย” นายณรงค์ชัย กล่าว
นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิกรมารีน จ.ภูเก็ต ซึ่งผ่านการรับรองประเภทธุรกิจการขนส่ง เป็นแห่งแรกนอกทวีปอเมริกา กล่าวว่า หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้รับมาตรฐาน SHA SHA+ และ 5Star ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จนล่าสุดคือมาตรฐาน GBAC Star ที่เข้ามาช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างองค์กร และยังเป็นการการันตีคุณภาพของบริการ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาจะเชื่อมั่นได้ว่ามีความสะอาดถูกสุขอนามัยและปลอดภัย
“นิกรมารีน ดำเนินการมา 30 กว่าปี ในเรื่องสุขอนามัยเราทำจริงจังมาโดยตลอด และปรับปรุง อบรม มาโดยตลอด และยังคอยดูแลตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรือหรือรถ ทั้งความสะอาด ความปลอดภัย โดยเฉพาะเรือที่อยู่ในทะเลเรื่องความปลอดภัยต้องมาก่อน เมื่อนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นตรงนี้ ก็จะมาใช้บริการของเรามากขึ้น” นางวิรินทร์ตรา กล่าว
นางสาวนวลสมร อุณหะประทีป มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาต้นแบบวิธีการดำเนินการของผู้ประกอบการไทยในการขอรับการรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยระดับสากล GBAC STAR ของ ISSA-The Worldwide Cleaning Industry Association สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีองค์กรที่ผ่านการรับรองทั่วโลกมากว่า 1,700 แห่ง โดยองค์กรต้นแบบของไทยที่เข้าร่วมโครงการ 6 แห่ง ผ่านการรับรองมาตรฐาน GBAC STAR ได้แก่ ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกของอาเซียน อาคารผู้โดยสารต่างประเทศขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทท่าอากาศยานแห่งแรกที่อยู่นอกทวีปอเมริกา, สุโข เวลเนส แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทสปา เป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา, นิกรมารีน จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทธุรกิจการขนส่ง เป็นแห่งแรกนอกทวีปอเมริกา, เซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมที่มีการบริหารงานแบบเครือข่ายแห่งแรกของอาเซียน บ้านปาร์คนายเลิศ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์วัฒนธรรมเป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา