สสส. เครือข่ายงดเหล้า ประสานกรมอุทยานฯ ถอดบทเรียนห้ามนำสุราเข้าเขตอุทยานทางทะเล เขตภาคใต้
สสส. เครือข่ายงดเหล้า ประสานกรมอุทยานฯ ถอดบทเรียนห้ามนำสุราเข้าเขตอุทยานทางทะเล เขตภาคใต้ หลังประกาศใช้กว่า 14ปี ยกระดับการทำงานเชิงรุก เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างสำนึกเคารพสิทธิ์ของคนอื่น หวังต่อยอดใช้พื้นที่อุทยานสำหรับการท่องเที่ยวธรรมชาติบำบัดแก้เครียดชาร์ทพลัง
เมื่อเร็วๆนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช เปิดพื้นที่โซนภาคใต้ จัดเวทีประชุมถอดบทเรียนเจ้าหน้าที่อุทยานทางทะเล ณ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สนับสนุนโดย สสส. เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในอุทยานแห่งชาติฯ ภาคใต้ จำนวน 8 แห่ง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงาน เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วันที่ 27 ธันวาคม 2553 เรื่องห้ามมิให้นำเข้าไปหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในอุทยานแห่งชาติ หากมีการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง กล่าวว่า ในพื้นที่อุทยานส่วนบนบก และส่วนที่เป็นเกาะในทะเล โดยพื้นที่จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากในช่วงปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาในพื้นที่ลานกางเต็นส์ เป็นพันๆ หลัง ซึ่งอุทยานฯ มีป้ายประชาสัมพันธ์ตามแบบที่ใช้ร่วมกันแล้วยังรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ส่วนรวมมิใช่เป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือของผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้พักผ่อนสัมผัสธรรมชาติ เช่น จุดบริเวณ ลานกางเต็นท์ มีข้อความว่า “สถานที่ลานกางเต็นท์ คือ พื้นที่ส่วนรวม”ส่วนมาตรการสกัดตรวจค้นและแนะนำนักท่องที่ยวก่อนเข้าอุทยานโดยเจ้าหน้าที่จะใช้รูปแบบขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยว หากมีการนำมาด้วย ทางเจ้าหน้าที่จะมีมาตรการรับฝากเก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตรงจุดสกัดก่อน พร้อมทำทะเบียนรับฝาก และจะให้คืนหลังจากนักท่องเที่ยวกลับออกจากพื้นที่อุทยานฯ นายแสงสุรีกล่าว.
นางสาวกาญจนา พิชาน พนักงานราชการ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทางอุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่สื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสกัดการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ด่านเก็บค่าบริการ มีการสื่อสารระเบียบกรมอุทยานฯ เมื่อก่อนมีการดื่มแอลกอฮอล์ในอุทยานฯได้ แต่หลังจากมีระเบียบของกรมอุทยานฯ แล้ว มีแนวโน้มดีขึ้นในแง่ของการจัดการนักท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น โดยส่วนมากมักจะมีปัญหาในส่วนของลานกางเต้นท์ ซึ่งในอุทยานฯธารเสด็จ-เกาะพะงัน ไม่มีลานกางเต้นท์ นักท่องเที่ยวจะมาแบบเช้าเข้ามา และเย็นก็กลับออกไป ภายใน 1 วัน สำหรับตนเองคิดว่ามีประโยชน์ ทำให้จัดระเบียบได้ง่าย ทำให้มีขยะลดน้อยลง มีความปลอดภัยมาขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุ มีสติ ไม่หัวร้อนจนเกิดการทะเลาะวิวาท นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่อีกด้วย ปัญหาการสื่อสารของเจ้าหน้าที่อาจสื่อสารไม่ตรงกัน หรือเจ้าหน้าที่อาจสื่อสารได้ไม่เหมือนกันทุกท่าน ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของการปฏิบัติหน้าที่ การปล่อยประละเลยให้นักท่องเที่ยวละเมิด หรือละเว้น ในบางกรณี
นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เปิดเผยว่า จากที่ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานฯ เพื่อจัดถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาครบใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ รวม 20 แห่ง จากอุทยานฯ ทั้งหมด 156 แห่งทั่วประเทศ ทั้งอุทยานแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติเตรียมการ ทางบกและทางทะเล ซึ่งผลจากถอดบทเรียนเห็นถึงประโยชน์ ข้อดีของประกาศฉบับนี้ เมื่อเปรียบเทียบก่อนมีประกาศ กับหลังมีประกาศ พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน อุทยานฯมีภาพลักษณที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยมาตรการที่ทำแล้วได้ผลคือ การมีป้ายประชาสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน มีแนวปฏิบัติที่ยืดหยุ่นปรับใช้ในแต่ละสถานที่ได้ดี สิ่งที่อยากให้เพิ่มคือ การประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง การสร้างจิตสำนึกของผู้นำชุมชนบริเวณโดยรอบ และควรมีการให้รางวัลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวมทั้ง การเชิญชวนให้เจ้าหน้าที่ลดละเลิกเพื่อสุขภาพและครอบครัว นอกจากนั้น มีบางกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่นมาแบบ VIP ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่สบายใจอยากขอให้ข้าราชการผู้ใหญ่ได้ทำตามกฎหมายเหมือนชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่เห็นข้อเสียว่า ทำให้รายได้จากร้านค้าสวัสดิการในที่ทำการลดลง โดยเฉพาะในเขตอุทยานที่กำลังเตรียมการ ซึ่งมีงบประมาณที่ได้รับน้อยอยู่แล้ว อีกทั้ง กลุ่มนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ไม่เข้าใจว่าสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปสามารถดื่มกินได้ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทั้ง 3 ภูมิภาคกลุ่มหนึ่งเห็นว่าควรพิจารณาผ่อนผันบางสถานที่ให้จำหน่ายและดื่มได้ในพื้นที่และเวลาจำกัด แต่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า หากผ่อนผันแม้บางส่วนก็จะไม่สามารถควบคุมได้ควรห้ามแบบเดิมดีแล้ว ซึ่งจะมีการนำเสนอคืนข้อมูลต่อผู้บริหารของกรมฯ ต่อไป โดยเฉพาะ การต่อยอดร่วมมือเพื่อสร้างคุณค่าของอุทยานเป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพ “ธรรมชาติบำบัด”(Natural Therapy) คือการใช้เวลาเชื่อมต่อกับธรรมชาติ ฟังเสียงและสัมผัสธรรมชาติที่สงบและงดงาม เพราะการศึกษาพบว่าโฮร์โมนคนเดินเที่ยวในป่าหลั่งสารความสุขมากกว่าคนเดินเที่ยวในห้าง ช่วยลดความเครียด ชาร์ทพลัง และผ่อนคลายได้มากกว่า ตัวอย่างกิจกรรม เช่น “อาบป่า” หรือกิจกรรมป่าบำบัด ซึ่งหากได้พัฒนาต่อยอดพื้นที่อุทยานฯ เป็นพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะการรักษาอนุรักษ์การท่องเที่ยวผจญภัย แต่มีมิติด้าน Health Promotion ที่เป็นเขตห้ามสุราบุหรี่ แล้วยังเพิ่มเป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพของคนไทยอีกด้วย นายธีระ กล่าว