นักวิทย์ร่วมบูรณะราชรถน้อยด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน

นักวิทย์นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมบูรณะราชรถน้อยถอดสูตรกระจกกรียบโบราณแล้วผลิตขึ้นใหม่ ด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ก่อนนำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมบูรณะราชรถน้อยซึ่งเป็นรถในขบวนเชิญพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนถอดสูตร กระจกเกรียบโบราณแล้วผลิตขึ้นใหม่ เพื่อส่งมอบให้สำนักช่างสิบหมู่นำไปบูรณะซ่อมแซม ก่อนนำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นางยุนีย์ ธีระนันท์ หัวหน้ากลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจกและช่างสนะไทย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า สำนักช่างสิบหมู่ได้รับหน้าที่ในการดูแลบูรณะซ่อมแซมราชรถน้อย นช.539 ซึ่งจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นางยุนีย์ ธีระนันท์ กล่าวอีกว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานราชรถน้อยก็มีการชำรุดหรือศิลปกรรมที่ประดับอยู่หลุดหาย จึงต้องมีการบูรณะซ่อมแซมเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงและลวดลายที่หายไปกลับมาเหมือนเดิมทว่ากระจกสำหรับประดับที่มีขายตามท้องตลาดนั้นมีสีที่มีความสว่างมาก และผลิตมาเพื่อใช้กับกาวอีพ็อกซี่เท่านั้น

เมื่อเรานำมาบูรณะซ่อมแซมศิลปวัตถุอย่างถูกวิธี เราจะต้องเลือกใช้วัสดุดั้งเดิมคือ สมุก ซึ่งเป็นการใช้ยางรัก ผงกะลา และใบตองเผา มาผสมและคน นวดให้เหนียว เพื่อใช้เป็นกาวหรือตัวประสานกระจกกับชิ้นงานให้ติดกัน กระจกปัจจุบันไม่สามารถใช้ร่วมกับสมุกได้ และมีความหนาและความบางที่ไม่เหมือนกระจกเดิม”
“สำนักช่างสิบหมู่จึงได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนให้ผลิตกระจก ซึ่งเป็นกระจกที่ทางสถาบันผลิตสีและความบางใกล้เคียงกับกระจกเดิมที่อยู่ที่ราชรถน้อยองค์นี้ เมื่อเรานำมาใช้กับสมุกก็ใช้ได้ดี หลังจากเราบูรณะเสร็จสมบูรณ์จะนำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครต่อไป”

ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิชาการและวิจัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “งานนี้เป็นการขยายผลจากงานวิจัยการศึกษากระจกเกรียบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) ตอนนั้นทำอยู่หลายปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ในการได้องค์ความรู้ ได้สูตรแก้ว ซึ่งสามารถผลิตแก้วโบราณได้ครบทั้ง 4 สี จากองค์ความรู้นั้น เราจึงได้รับการติดต่อจากสำนักช่างสิบหมู่ว่า มีงานที่จะบูรณะราชรถน้อยองค์นี้ เป็นการบูรณะแบบอนุรักษ์
นั่นหมายความว่า จะไม่รื้อกระจกเกรียบของเก่าออก ของที่ยังติดอยู่เป็นของโบราณดั้งเดิมก็ยังคงไว้ แต่ส่วนที่หลุดหายไปต้องใช้กระจกเกรียบที่มีสีเหมือนและมีความบางเท่ากับของโบราณ สามารถทนต่อยางรักซึ่งเป็นกาวธรรมชาติที่เป็นเทคนิคโบราณที่ใช้ประดับไม้ ซึ่งกระจกเกรียบของซินโครตรอนมีสมบัติครบถ้วน เราสามารถปรับสี คิดสูตรแก้วขึ้นมาใหม่ให้ได้เราเลยได้รับงานนี้มา และทำงานอยู่ประมาณปีหนึ่ง เพื่อปรับสีจากสูตรแก้ว เพราะว่าสีเขียวหรือสีน้ำเงินของราชรถน้อย จะมีโทนสีที่ต่างจากกระจกของวัดพระแก้ว จึงมาปรับสูตรเพื่อให้ตัวใหม่ที่เราทำมาเข้ากับของเก่าดั้งเดิมได้ ดั่งที่ปรากฏให้เห็น”


“ในส่วนของซินโครตรอนรับผิดชอบในการผลิตกระจกอย่างเดียว ซึ่งมีหลายสีที่ส่งมาให้ทั้งหมด มีสีเขียวปีกแมลงทับซึ่งอมน้ำเงินนิดๆ สีขาวเป็นสีขาวเหลืองนวล เราจูนสีขึ้นมาใหม่เป็นสูตรเฉพาะ มีสีน้ำเงิน และมีสีแดง สีส้ม สำหรับสีแดงอมส้มน่าสนใจมาก เพราะว่าทางช่างบอกว่าเป็นกระจกสีขาว
แต่พอบูรณะไปก็เจอกระจกอีกสีที่ซ่อนอยู่ใต้กระจกสีขาว เขาส่งมาให้เราดูจึงทราบว่าเป็นสีแดงอมส้ม ซึ่งสีแดงอมส้มนี้ท้าทายมาก เพราะไม่ใช่สีที่เจอที่วัดพระแก้ว เป็นสีโบราณใหม่เลย ซึ่งเรายังไม่เคยศึกษามาก่อน จึงใช้ความรู้ต่อยอดจากสีแดงโบราณ และสีเหลืองโบราณ เอามาผสมกัน เลยสามารถผลิตกระจกเกรียบสีใหม่นี้ได้ แล้วส่งมาให้ทางสำนักช่างสิบหมู่ใช้”
“การเอาซินโครตรอนมาใช้ เหมือนเราได้ตั้งต้นในจุดที่ใกล้จะถึงแล้ว และเหมือนทางลัดให้ไปได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าให้เริ่มจากสูตรแก้วสีทั่วไปตั้งแต่แรกจะยากมาก โดยเฉพาะสูตรแก้วโบราณ สีจะซับซ้อนมาก ไม่ใช่ธาตุเดียวที่ให้สี แต่จะเป็น 2 – 3 ธาตุ
เพราะฉะนั้นจึงต้องปรับแต่งกันให้สมดุล ให้เกิดสีที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมโบราณให้ได้ ทั้งนี้การขยายการผลิตไปสู่ระดับโรงงานนำร่องนั้น จำเป็นต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชนที่สนใจในการพัฒนาความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป” ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ กล่าวทิ้งท้าย