“ศุภมาส” เยี่ยมชมซินโครตรอน หนุนสร้างเครื่องใหม่ระดับ 3 GeV


“ศุภมาส” ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ชมความก้าวหน้าและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซินโครตรอนเพื่องานวิจัย ประทับใจงานวิจัยการแปรรูปอาหารและการเกษตร อาทิ การยกระดับอาราบิก้าไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก การแปรรูปผักสู่อาหารขบเคี้ยว การยืดอายุทุเรียนเพื่อส่งออกด้วยการแช่เยือกแข็ง พร้อมหนุนการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ระดับพลังงาน 3 GeV


เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ จ.นครราชสีมา – นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหาร อว. เยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สังกัดกระทรวง อว. โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และผู้บริหารสถาบันฯ ให้การต้อนรับ ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมืองจ.นครราชสีมา

โอกาสนี้ รมว.อว. ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการสยาม และผลงานวิจัยจากการประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ได้แก่ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น โครงการพัฒนาแผนที่สมองสามมิติ การพัฒนาหน้ากากผ้าไหมเพื่อช่วยชุมชนทอผ้าไหม การพัฒนาตัวนำส่งวัคซีน mRNA ผลงานวิจัยที่ร่วมพัฒนากับภาคเอกชน เช่น โลชั่น Mama Kara เพื่อแม่และเด็ก ผลงานวิจัยด้านโบราณคดี สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เช่น การวิจัยทองคำโบราณเพื่อสืบหาแหล่งที่มาสำคัญ การไขปริศนางาช้างหักเพื่อวิเคราะห์ทุพโภชนาการของช้าง
การประยุกต์ใช้ระบบสุญญากาศเพื่อรักษาสภาพซากฟอสซิล การวิเคราะห์โครงสร้างไม้ปาล์มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ปาล์ม ผลงานวิจัยเปลี่ยนขยะเป็นกราฟีน และให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อผลงานวิจัยการใช้ประโยชน์ด้านอาหารและการเกษตร เช่น งานวิจัยไก่โคราช การพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลดปริมาณโซเดียมแต่ยังคงความอร่อย การแปรรูปผักสู่อาหารขบเคี้ยวในรูปข้าวเกรียบผักและแผ่นผักบางกรอบเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนปลูกผักวังน้ำเขียว การพัฒนาข้าวป๊อปบำรุงสมองและเสริมสุขภาพ งานวิจัยยกระดับคุณภาพกาแฟอาราบิก้าไทยเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลก การยืดอายุทุเรียนเพื่อส่งออกด้วยการแช่เยือกแข็ง เป็นต้น
พร้อมกันนี้ รมว.อว. ได้ชมต้นแบบแม่เหล็กซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาโดยคนไทย สำหรับโครงการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ขนาดพลังงาน 3 GeV โดยจะเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง และสามารถตอบโจทย์งานวิจัยที่หลากหลาย อาทิ การแพทย์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ วัสดุ อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดี ซึ่งจะสามารถยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้เทียบเท่าประชาคมโลกได้

หลังการตรวจเยี่ยม นางสาวศุภมาส กล่าวว่า “งานวิจัยด้านอาหารและการเกษตรที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนพัฒนาขึ้นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชุมชน มีการแปรรูปอาหารจากผักที่เหลือจากการตัดแต่ง ซึ่งช่วยสร้างช่องทางเพิ่มรายได้ใหม่ๆ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรปลูกผักวังน้ำเขียวในพื้นที่ จ.นครราชสีมา อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร และเป็นการใช้ทรัพยากรจากผลผลิตอย่างคุ้มค่า หากมีการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ จะยิ่งสร้างงานวิจัยได้หลากหลายมากขึ้น ช่วยสร้างโอกาสให้แก่ประเทศ ดิฉันพร้อมสนับสนุนการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ให้สำเร็จโดยเร็ว”