กระทรวงวิทย์จัดงบเกือบ 1 พันล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการ 4 โครงการสำคัญช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) รวมการสนับสนุนเทคโนฯของอุตสาหกรรม คูปองนวัตกรรม การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่และผลักดันงานวิจัยออกสู่ตลาด คาดเกิดการปรับปรุง ถ่ายทอดเทคโนฯและผู้ประกอบการใหม่มากกว่า 2 พันราย รวมถึงเกิดการจ้างงานใหม่ ๆอีกเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ตามที่ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อ (สสว.) และหน่วยงานอื่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเอสเอ็มอี สร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา โดยคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทั้งสิ้น 100,000 ราย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า กระทรวงวิทย์ฯได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 986 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการ 4 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย 1. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP เพื่อสร้างความเข้มแข็งโดยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เอสเอ็มอี ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์เดิม หรือ พัฒนาให้ได้ระบบมาตรฐาน โดยตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 945 ราย ภายใน 1 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 416 ล้านบาท
โครงการที่ 2 คือ โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอี 340 ราย นำองค์ความรู้หรือผลงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมและนำร่องสร้างต้นแบบเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเครือข่ายผู้ให้บริการนวัตกรรม 500 ราย โดยจัดสรรงบประมาณไว้ 515 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนอีกไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ในธุรกิจนวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกไม่ต่ำกว่า 2,550 ล้านบาท
โครงการที่ 3 คือ โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ หรือ Start-up Voucher เพื่อผลักดันธุรกิจให้เข้าสู่กระบวนการ ‘เร่ง’ การเจริญเติบโต 50 ราย โดยให้คำปรึกษา รับการอบรมทั้งด้านการสร้างความคิด การพัฒนา การออกแบบด้านธุรกิจ การสร้างต้นแบบ การศึกษาตลาด การสำรวจตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงธุรกิจให้เข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม การจัดเวทีประกวดนวัตกรรม ฯลฯ โดยจัดสรรงบประมาณไว้ 50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
และสุดท้ายคือ โครงการ “หิ้งสู่ห้าง” 30,000 บาท ทุก IP ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าถึงสิทธิในการใช้ผลงาน 3-5 ปี และมีค่าธรรมเนียมเพียง 30,000 บาท ชำระเมื่อลงนามในสัญญา มีค่าตอบแทนการใช้สิทธิ หรือ Royalty Fee 2% ซึ่งสามารถนำค่าธรรมเนียมมาหักออกได้เมื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้ว ซึ่งในการดำเนินโครงการนี้ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 58 นี้ มีการจองเทคโนโลยี 72 ชิ้นจาก 82 ชิ้น โดยปี 2559 ตั้งเป้าใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาทแต่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ถึง 960 ราย
“นี่คือสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะดำเนินการเสริมสร้างขีดความสามารถและสร้างความเป็นเลิศของเอสเอ็มอีในการเพิ่มมูลค่าจากการต่อยอดและใช้ประโยชน์งานวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าว