“TMB Analytics” ประเมิน
กนง.ส่งไม้ต่อรัฐบาลดันGDP
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยมีอย่างจำกัด ปัญหาไม่ใช่ต้นทุนทางการเงิน แต่เป็นอุปสงค์หดตัว ส่งไม้การกระตุ้นเศรษฐกิจต่อให้รัฐบาล หลังคณะรัฐมนตรีออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้มาตรการการคลังน่าจะเป็นยาที่ถูกขนาน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งก่อนในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 หลังค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ช่วยเกื้อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กนง.ยังมองว่าการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก แต่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา นับว่ายังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่องถึงแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมามากก็ตาม โดยการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวลงถึงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 3 ด้านเศรษฐกิจในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำหลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในทางกลับกันการลงทุนภาคเอกชนเติบโตดีขึ้นได้เล็กน้อย แต่อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและแนวโน้มหนี้เสียที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาคธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อยังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนภาคเอกชน และถึงแม้ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยเครื่องยนต์ด้านอื่นๆที่อ่อนแรงลงมาก
ท่ามกลางเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัวที่ฝืดเคือง ความหวังจึงตกอยู่กับแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการชุดแรกที่ออกมา ได้แก่ การปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชุน และการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการลดภาษีนิติบุคคลให้แก่เอสเอ็มอี รวมถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยกู้ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล และลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง
ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้และปล่อยสินเชื่อแก่สหกรณ์ นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ วงเงินรวมกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกกว่า 1.79 ล้านล้านบาท ดังนั้นศูนย์วิเคราะห์ฯจึงเชื่อว่าเราจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ จากรัฐบาลออกมาอีก
ฝั่งนโยบายการเงิน จากข้อเท็จจริงที่กนง.ได้ออกโรงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกันในช่วงต้นปี 2558 โดยกนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไป 2 รอบ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 แต่ประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่ต้นทุนทางการเงิน แต่เป็นปัญหาทางด้านอุปสงค์ที่หดตัวลงไปมาก ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กนง. น่าจะส่งไม้ต่อให้แก่รัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลังน่าจะเป็นยาที่ถูกขนานต่อปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมากกว่านโยบายทางการเงิน ประกอบกับรัฐบาลมีการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยลงอีกจึงมีความจำเป็นน้อยลง ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะถูกคงไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในช่วงที่เหลือของปีนี้