NRCT Open House 2024 วช.เปิดชี้แจงกรอบวิจัยปีงบประมาณ 2568 “พัฒนาแนวคิดร่วมนักวิจัย สร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสังคม”

NRCT Open House 2024 วช.เปิดชี้แจงกรอบวิจัยปีงบประมาณ 2568 “พัฒนาแนวคิดร่วมนักวิจัย สร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสังคม” เปิดบ้านวันแรก ด้านสังคมและความมั่นคง

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดการประชุม พร้อมแถลงแผนการดำเนินงานและเป้าหมายการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช.


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี 2566 – 2570 โดยในปีงบประมาณ 2568 วช.ได้ดำเนินการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และ 2) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม โดย วช. ยังมุ่งมั่นการสร้างนักวิจัยที่สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงในระดับสากล ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในด้านสังคมและความมั่นคง องค์ความรู้และผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถนำมามีส่วนร่วมในการจัดการแก้ปัญหาของสังคมและความมั่นคงอาทิ การพัฒนานโยบายและต้นแบบสำหรับสังคมคุณธรรม การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาล


ถัดมา เป็นการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง”
-ในกลุ่มเรื่องที่ 1 กลุ่มเรื่อง มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และการศึกษาที่ได้รับเกียรติจาก ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ กล่าวถึงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ กล่าวถึงด้านศิลปกรรมศาสตร์ และ ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี กล่าวถึงด้านการศึกษา
-กลุ่มเรื่องที่ 2 สังคมไทยไร้ความรุนแรง การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และความปลอดภัยทางถนน ได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.นิมิต เตชไกรชนะ กล่าวถึงสังคมไทยไร้ความรุนแรง ดร.เจนรบ พละเดช กล่าวถึงด้านสังคมคุณธรรมและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ กล่าวถึงด้านความปลอดภัยทางถนน
โดยการเสวนาครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ระบุเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเขียนข้อเสนอ อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้าร่วมเสวนาและตอบข้อซักถามถึงหัวข้อเสวนาในวันนี้

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้แนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย คุณศยามน ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยได้อย่างทันท่วงที ถัดมามีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในด้านสังคมและความมั่นคง โดย รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศ. ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ติณณภพ แพงผม จากมหาวิทยาลัยมหิดล รศ. พ.ต.อ.หญิง ดร.ทิพย์ฆัมพร เกษโกมล จากวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ ผศ .ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ จากสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย เพื่อสร้างแนวคิดหรือแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้แก่นักวิจัยในอนาคต


ทั้งนี้ NRCT Open House 2024 : การชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 ของ วช. จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 9 มิถุนายน 2567 ในรูปแบบ Onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 และออนไลน์ผ่าน (Video conference) ด้วยระบบ zoom meeting และการถ่ายทอดสด (Live streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
มีประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละวัน 9 ด้าน ดังนี้
- ด้านสังคมและความมั่นคง (วันที่ 1 มิถุนายน 2567)
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วันที่ 2 มิถุนายน 2567)
- ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และศูนย์กลางการเรียนรู้ (วันที่ 3 มิถุนายน 2567)
- ด้านการรองรับสังคมสูงวัย (วันที่ 4 มิถุนายน 2567)
- ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ (วันที่ 5 มิถุนายน 2567)
- ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม (วันที่ 6 มิถุนายน 2567)
- ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร (วันที่ 7 มิถุนายน 2567)
- ด้านสัตว์เศรษฐกิจ (วันที่ 8 มิถุนายน 2567)
- ด้านการจัดการความรู้การวิจัย และถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2567)