กรมพัฒน์ฯ มั่นใจปี 2017ดีขึ้น
ผลจัดอันดับเริ่มต้นธุรกิจไทย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยอมรับผลการจัดอันดับการเริ่มต้นธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก ในปี 2016 ที่เพิ่งประกาศผลเมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบไม่ย่อท้อ ตั้งเป้าปี 2017 อันดับต้องดีขึ้นภายหลังหารือธนาคารโลกเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ชี้ที่ผ่านมปรับระบบแบบ Single point จัดทะเบียนจัดและอื่น ๆ ใน 80 นาที เตรียมนำเทคโนฯครบวงจร e-Registration มาใช้ปี 2560
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า หลังจากทราบผลการจัดอันดับการเริ่มต้นธุรกิจ (Doing Business) ปี 2016 ของธนาคารโลกแล้ว ยอมรับยังไม่ค่อยพอใจอันดับที่ประเทศไทยได้รับ ซึ่งขยับลงจากปี 2015 จากอันดับที่ 91 ลดลงเป็นอันดับที่ 96 เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมฯ ได้ปรับปรุงการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ มาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็น การให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร ขึ้นทะเบียนนายจ้างของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน กรณีมีลูกจ้างมากกว่า 10 คนขึ้นไป ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ จุดเดียว (Single point) ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้กรมฯ สามารถให้บริการจองชื่อนิติบุคคลทางอินเทอร์เน็ตและบริการจดทะเบียนได้ ภายใน 80 นาที รวมถึงเตรียมนำเทคโนโลยีมาให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (e-Registration) ภายในปี 2560
“กรมฯ ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับการเริ่มต้นธุรกิจ หรือ Doing Business ของ World Bankมากเนื่องจากเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกด้านการเริ่มต้นธุรกิจของไทย ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากทั่วโลก โดยในปี 2015 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 96 ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ในอันดับที่ 91 ซึ่งเป็นผลมาจากการนำขั้นตอนการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงานที่บริษัทต้องยื่นต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดการเริ่มต้นจดทะเบียนธุรกิจ โดยระบุว่าใช้เวลาดำเนินงานถึง 21 วัน
ซึ่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 กรมฯ ได้เชิญกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก.พ.ร. และผู้ให้ข้อมูลต่อWorld Bank มาประชุมเพื่อชี้แจงถึงขั้นตอนที่แท้จริงในการให้บริการจดทะเบียนธุรกิจของไทยให้ผู้แทน World Bank ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ว่า
1. การยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงานของนายจ้างที่กฎหมายบังคับให้ยื่นต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานใช้บังคับเฉพาะผู้ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยมีผลทันทีเมื่อประกาศ ไม่ต้องรอการพิจารณาของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด
2. การประกาศข้อบังคับการทำงาน กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการภายใน 15 วัน หลังจากมีลูกจ้างครบ 10 คน และต้องยื่นต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภายใน 7 วัน หลังวันประกาศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการเมื่อเข้าตามเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีความเชื่อมโยงกับการจดทะเบียนเริ่มต้นธุรกิจแต่อย่างใด
3. ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการเข้าใจผิดของหน่วยปฏิบัติและผู้ให้ข้อมูลต่อWorld Bank ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ออกประกาศ เรื่อง การจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงและขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง
จากเหตุและข้อเท็จจริงดังกล่าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ขอให้ World Bank ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจของไทยใหม่ และทบทวนการจัดอันดับที่จะประกาศ ในปี 2016 ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากการจัดอันดับของปี 2016 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 แล้ว การปรับลดตัวชี้วัดดังกล่าวจึงต้องนำไปพิจารณาจัดอันดับในปี 2017
นอกจากนี้ จากรายงานผลการวิจัยในปี 2016 ประเทศไทยได้ถูกเพิ่มขั้นตอนจาก 4 ขั้นตอน เป็น 6 ขั้นตอน โดยเพิ่มขั้นตอนการชำระค่าจดหนังสือบริคณห์สนธิก่อนการจัดตั้งบริษัท ซึ่งในทางปฏิบัติขั้นตอนนี้ได้รวมอยู่ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว และขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของกรมสรรพากร เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและเกิดกับธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งหลังจากนี้ กรมจะร่วมมือกับ ก.พ.ร. ชี้แจงข้อเท็จจริงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่างๆ ตามที่ระบุในรายงานผลการวิจัยของธนาคารโลกแก่ผู้ตอบแบบสอบถามและภาคเอกชน รวมทั้งประสานงานกับธนาคารโลกประจำประเทศไทยและสำนักงานใหญ่อย่างอย่างใกล้ชิด
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ยังได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น การให้บริการจดทะเบียนข้ามเขตจังหวัด ให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดตั้งใหม่สามารถจดทะเบียนข้ามเขตทั่วประเทศ จากเดิมต้องยื่นคำขอจดทะเบียน ณ จังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานแห่งใหญ่เท่านั้น การปรับลดเอกสารประกอบการยื่นคำขอจดเพิ่มหรือยกเลิกสำนักงานสาขาให้ผู้ขอจดทะเบียนแจ้งเฉพาะสาขาที่จะทำการเพิ่มเติม รวมถึงการขยายจำนวนบุคคลที่ผู้ขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถลงลายมือชื่อต่อหน้าได้ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาวิชาชีพบัญชี และผู้ทำบัญชี ทำให้ขยายจำนวนบุคคลจากเดิม 139,399 ราย เป็น 196,923 ราย
ทั้งหมดนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินกิจการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ยังมีผลต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก อันจะส่งต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการเข้ามาประกอบธุรกิจของนักลงทุนที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย