สถาบันสุขภาพเด็ก-การบินไทย
หนุนรักษาเด็กไทยต่างแดน
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สานต่อกิจกรรมเพื่อสังคม “Miles Give Kids A Smile” โครงการบริจาคไมล์ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กที่ขาดแคลนในการส่งตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ล่าสุด สนับสนุนการเดินทางผู้ป่วยเด็กโรค Mobius Syndrome พร้อมญาติ ไปรับการรักษาณ DRK Kinderklinik Siegen ประเทศเยอรมนี
รองศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า “จากความช่วยเหลือของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้สร้างสรรค์โครงการ‘Miles Give Kids A Smile’ โครงการบริจาคไมล์จากสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส ที่จัดขึ้นในปี 2557 ซึ่งได้รับการตอบรับจากสมาชิกร่วมบริจาคไมล์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สามารถส่งบุคลากรทางการแพทย์เดินทางร่วมสัมมนาวิชาการและขยายขีดความสามารถในการพัฒนาด้านวิชาการและแพทย์เฉพาะทางโรคเด็กมากมาย
พร้อมทั้งยังเพิ่มความสามารถในด้านการส่งตัวผู้ป่วยเด็ก เพื่อเข้ารับการรักษาและบริการทางการแพทย์ในสถาบันสุขภาพเด็กฯ และสถานพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั่วโลก โดยล่าสุดทางสถาบันฯ ได้อนุมัติการเดินทางในการส่งเด็กหญิงกัณชลิตาฐ์ หล่อวัฒนกิจชัย ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการ Mobius Syndrome พร้อมญาติผู้ป่วย ไปรับการบำบัดปัญหาในการทรงตัวด้วยเทคนิควอยตาบำบัด (Vojta) ที่โรงพยาบาล DRK KinderKlinik Seigen”
แพทย์หญิงอุบลวรรณ วัฒนาดิลกกุล แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งแห่งชาติมหาราชินี (รพ. เด็ก) แพทย์ประจำตัวเด็กหญิงกัณชลิตาฐ์ เผยว่า “น้องมีปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า การทรงตัว และปัญหาทางการได้ยิน รวมถึงมีพัฒนาการช้ากว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยปกติแล้ว น้องได้รับการบำบัดด้านอื่นๆ ในประเทศไทย แต่สำหรับการบำบัดเรื่องการทรงตัวด้วยเทคนิควอยตา กรมการแพทย์เพิ่งเริ่มทำมา 5 ปี ซึ่งกรณีของน้องจัดว่าเป็นกรณีที่ยากเนื่องจากมีความผิดปกติหลายด้าน ทางสถาบันฯ จึงส่งไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล DRK KinderKlinik Seigen ประเทศเยอรมนี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำกับทีมแพทย์ของสถาบันสุขภาพเด็กฯ ให้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้ปกครองในการบำบัด นับเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูของสถาบันด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ในการเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาในครั้งนี้”
ทั้งนี้ โรค Mobius Syndrome เป็นความผิดปกติทางประสาทวิทยาแต่กำเนิด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 ที่มีหน้าที่สั่งการกล้ามเนื้อควบคุมการกลอกตาออกทางด้านนอก และเส้นที่ 7 ที่มีหน้าที่สั่งการกล้ามเนื้อในการแสดงสีหน้า ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถกรอกตาซ้าย –ขวา และมีอาการอัมพาตที่ใบหน้า ผู้ป่วยจึงไม่สามารถดูดน้ำหรือแสดงความรู้สึกบนใบหน้าได้ นอกจากนี้ในบางกรณียังเกิดความผิดปกติในสมองบางส่วนที่ทำให้มีปัญหาด้านการทรงตัว โดยโรคดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่ประมาณการว่าจะพบผู้ป่วยโรคดังกล่าว1 คนในเด็กแรกเกิด 50,000 – 500,000 คน
นอกจากนี้ ทางโครงการยังสนับสนุนการเดินทางของคณะแพทย์และทีมพยาบาล เพื่อไปแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการรักษาโรคเด็กที่ยุ่งยากซับซ้อนและการสาธารณสุขกับประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ สนับสนุนการเดินทางของทีมแพทย์ของสถาบันฯ เพื่อมาสาธิตวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจและปิดรูรั่วในหัวใจด้วยสายสวน ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมในการประชุม ‘The 5thCongress of Congential Heart Disease: Right Heart Invervention from A to Z’ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเด็กและพัฒนาทีมแพทย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น