“ขี้เหล็ก” สมุนไพรไทยแท้ทำเป็นอาหารก็อร่อย เมนูอาหารโปรดของใครหลาย ๆ คน ในทางการแพทย์ยังเป็นสมุนไพร ใช้ได้ทุกส่วนทั้งดอก ใบ เปลือก กระพี้ แก่น ไส้ ราก มีกรศึกษาพบ สารสกัดจากใบและรากมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูทดลอง ช่วยลดไขมันในเลือดและไตรกลีเซอไรด์ สารสกัดจากใบมีผลลดความดัน เนื่องจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดการเต้นของหัวใจ
“ขี้เหล็ก” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Senna siamea (Lam.) H. S. Irwin & Barneby บ่งบอกถึงถิ่นกำเนิด ที่อยู่ในเมืองสยาม ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE เป็นสมุนไพรไทยแท้ แต่ก็พบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ดอกสวย โตเร็ว นิยมปลูกเป็นไม้ให้ร่ม เป็นผักมีประโยชน์ ที่นิยมรับประทานกันแทบทุกบ้าน โดยใบอ่อนสามารถนำแกงกะทิใส่หมูย่าง เนื้อย่าง ปลาย่าง หนังวัวเผา ใส่ในแกงป่า แกงบวน แกงเลียง (ภาคใต้) หรือลวกจิ้มน้ำพริกก็ได้เช่นกัน
ขี้เหล็ก เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารมากมาย อาทิ โปรตีน วิตามินบี 2 มีธาตุเหล็กสูง มีไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอาซิน อยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าเอาดอกอ่อนมาแกงด้วยก็จะได้วิตามินเอในปริมาณสูง ใบขี้เหล็กมีใยอาหารสูง เป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยดูดซับสารพิษ เป็นอาหารสุขภาพและยังเหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนักเพราะให้พลังงานน้อยมาก นอกจากนี้ หมอพื้นบ้านเชื่อว่าการกินแกงขี้เหล็กจะช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
ขี้เหล็กนับเป็นสมุนไพรที่เข้าตำรับยาไทยมากที่สุดชนิดหนึ่ง และสามารถใช้ได้ทุกส่วน (ทั้งห้า) ทั้งดอก ใบ เปลือก กระพี้ แก่น ไส้ ราก เป็นได้ทั้งยาเดี่ยวและยาตำรับ การใช้ทั้งห้านี้มีสรรพคุณกล่าวเป็นคำกลอนไว้ว่า “ขี้เหล็กท่านว่า ตามในตำรา สิ่งนี้ดีสุด รู้แก้มุตกิด และนิ่วก็หยุด ดอกนั้นเป็นจุด แก้โลหิตได้ แก้นอนมิหลับ ทุกข์อยู่พริบพรับ แล้วค่อยกลับหาย แก้หิดรังแคส่วนเปลือกนั้นแก้ ริดสีดวงก็ได้ กระพี้โลหิต อันกระทำพิษ ระส่ำระสาย แก่นนั้นแก้ลม ทำให้เย็นกาย นอกนั้นแก้ได้ พยาธิในอุทร ไส้แก้โลหิต อันขึ้นทำพิษ ให้รื้อให้ถอน จักษุทวาร อาการแสบร้อน รากแก้กษัยกร่อนหนาวผิดสำแดง”
ตำรับยากลุ่มโรคที่นิยมใช้ขี้เหล็กมากที่สุด คือ กษัย (ความเสื่อม) โรคของความเสื่อมของธาตุต่างๆ ในร่างกาย อันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยจะมีอาการต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกเสียดแน่นท้อง ท้องผูก นอนหลับไม่สนิท ตามัว มึนงง วิงเวียน แขนขไม่มีแรง ชาตามปลายมือปลายเท้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปัสสาวะมีสีเข้ม เป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตที่ไม่ดูแลสุขภาพ กินนอนไม่เป็นเวลา กินอาหารไม่ครบถ้วน เคร่งเครียด พักผ่อนน้อย ไม่เปลี่ยนอิริยาบท นั่งนาน ยืนนาน โดยมักจะเป็นอาการเรื้อรังที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะหาสาเหตุไม่พบ แต่ชาวบ้านจะใช้ขี้เหล็กทั้งห้า หรือแก่นขี้เหล็กต้มกิน
การศึกษาวิจัยพบว่า ขี้เหล็ก มีฤทธิ์ต้านมะเร็งในสัตว์ทดลอง โดยหลังจากให้สารสกัดขี้เหล็กกับหนูที่ได้รับสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) แล้วพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับ glutathione S-transferase (GST) และ UDP- glucuronosyltransferase (UGT) ซึ่งต้านการเกิดมะเร็ง ทำให้หนูเกิดมะเร็งช้าลง และลดการกระจายตัวของมะเร็งเต้านมในหนูได้ ซึ่งสนับสนุนการใช้ขี้เหล็กในกษัยได้เป็นอย่างดี
ขี้เหล็กทั้งห้า สามารถใช้แก้อาการปวดหัวจากความดันโลหิตสูง และมีการใช้ใบและดอกของขี้เหล็กมาแกง หรือใช้ยอดอ่อนนึ่ง หรือลวกจิ้มรับประทาน เพื่อสรรพคุณในการเป็นยานอนหลับ นอกจากนี้ การรับประแกงขี้เหล็กยังช่วยให้ระบาย แต่ถ้าใช้แก้อาการท้องผูก จะต้องใช้แก่นหรือกิ่งก้าน 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้ม 30 นาที รับประทานครั้งละ 1 แก้วหรือมากกว่านั้น
ปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับของขี้เหล็ก พบว่า ในใบอ่อนของขี้เหล็กมีสารชื่อว่า บาราคอล (Barakol) ซึ่งมีคุณสมบัติคลายเครียด ในขนาดสูงๆ จะเป็นยาช่วยให้นอนหลับ ถ้าขนาดที่ไม่สูงมากมีฤทธิ์ช่วยสงบประสาท คลายเครียด โดยไม่ทำให้ง่วงเหมือนยาสงบประสาทแผนปัจจุบัน และด้วยสรรพคุณดังกล่าว องค์การเภสัชกรรมจึงทำยาเม็ดจากใบขี้เหล็กออกมาจำหน่าย แต่ต่อมาพบผลข้างเคียง คือ เมื่อรับประทานยาไปสักระยะหนึ่ง จะเริ่มมีอาการตับอักเสบ ทำให้องค์การเภสัชกรรมต้องยกเลิกการใช้ยาเม็ดขี้เหล็กไป ซึ่งในภายหลังนักวิจัยได้พิสูจน์พบว่า สารพิษที่ทำให้เกิดอาการตับอักเสบนั้นไม่ใช่สารบาราคอล แต่เป็นสารตัวอื่นในใบขี้เหล็ก ดังนั้น การที่คนโบราณกินแกงขี้เหล็กโดยไม่เกิดอันตราย น่าจะเป็นเพราะกรรมวิธีในนำขี้เหล็กมาต้มหลายครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้สารพิษบางอย่างในขี้เหล็กลดลง เนื่องจากถูกความร้อนทำลาย จึงปลอดภัยในการรับประทาน
นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาวิจัยซึ่งยืนยันการใช้เป็นยาของชาวบ้าน โดยพบว่า สารสกัดจากใบและรากของขี้เหล็กมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูทดลอง ทั้งยังช่วยลดไขมันในเลือดและไตรกลีเซอไรด์ และพบว่าสารสกัดจากใบมีผลลดความดัน เนื่องจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดการเต้นของหัวใจ
หมอยาเมืองเลยนิยมใช้ขี้เหล็กเข้ายาแก้เส้น แก้เอ็น แก้ฟกช้ำ บวม หรือในคนที่มีอาการปวดเส้น ปวดเอ็น เส้นเอ็นตึง รวมทั้งแก้ริดสีดวงทวาร ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดจากเปลือกต้นขี้เหล็กมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนู และให้ผลดีกว่ายาแก้ปวดไดโคลฟีแนก (diclofenac) ซึ่งเป็นยาแก้อักเสบ แก้ปวดแผนปัจจุบัน โดยมีกลไกไปยับยั้งเอ็นไซม์ cyclooxygenase มีฤทธิ์ลดปวดและต้านการอักเสบในหนูทดลอง โดยไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติ
ตำรับยา
ยาดองแก้กษัย ให้นำเถาคันแดง 5 ตำลึง เถาวัลย์เปรียง 5 ตำลึง แก่นขี้เหล็ก 5 ตำลึง มะกรูด 33 ลูก ใส่เกลือพอควร
ยาแก้ประจำเดือนไม่ปกติ ใช้แก่นขี้เหล็ก แก่นฝาง อย่างละ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มให้เดือด 10 นาที รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ยาแก้โรคปวดศรีษะเรื้อรัง ใช้แก่นขี้เหล็ก 1 บาท ผักเสี้ยนผี 1 บาท ต้นแมงลัก 1 บาท นำมาใส่หม้อดินต้มกับน้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือน้ำ 1 ส่วน ใช้น้ำยารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 4-5 ครั้ง
ยาเบาหวาน ใช้ใบขี้เหล็ก ต้มเอาน้ำรับประทาน
ยาแก้ร้อนใน ใช้ใบขี้เหล็กอ่อนๆ ตำกับเกลือให้ละเอียด แล้วคั้นเอาน้ำ ถ้าน้ำน้อย ให้เติมน้ำสะอาดพอควร แล้วกรองด้วยผ้าสะอาดรับประทาน
ยานอนหลับ ใช้ยอดต้มรับประทานตอนเย็น