“รมว.สธ.” รับ ติดตามเรื่องให้ หลังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ ยื่นอย.ทบทวน ปมจัดพิมพ์ฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศ
“รมว.สธ.” รับ ติดตามเรื่องให้ หลังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ ยื่นเลขาฯ อย.ทบทวน ปมจัดพิมพ์ฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศ หวั่น ทำต้นทุนเพิ่ม ต้องขึ้นราคาสินค้า กระทบผู้บริโภคโดยตรง
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีที่ตัวแทนผู้ประกอบการบริษัทรายใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอข้อมูลไปยังคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องการพิจารณาการแสดงข้อมูลโภชนาการภาษาต่างประเทศ เพื่อลดการจัดทําฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศแบบแยกประเทศ หรือใช้สติ๊กเกอร์โดยไม่จำเป็น เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการพิมพ์ฉลาก สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าตามมา ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงว่า จะติดตามในรายละเอียดเกี่ยวกับการออกฉลากโภชนาการร่วมภาษาต่างประเทศกับเลขาธิการ อย.ให้ โดยจะไปดูรายละเอียดในเรื่องนี้อีกครั้ง
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 ก่อนการประชุมครม. นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการ อย. ได้กล่าวว่า เตรียมนำเรื่องนี้ รายงานต่อรมว.สาธารณสุข ซึ่งได้คุยกันเบื้องต้นแล้ว ว่าควรจะทำให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้นก็ตาม แต่ล่าสุด ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
ทั้งนี้ สืบเนื่อง จากกรณีที่ตัวแทนผู้ประกอบการบริษัทยักษ์ใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอข้อมูลไปยัง เลขาธิการอย.ให้มีการพิจารณาทบทวน การแสดงข้อมูลโภชนาการภาษาต่างประเทศ ตามบัญชีหมายเลข 1 ท้ายประกาศกระทรวง สาธารณสุข ฉบับที่ 445 ที่ยังมีความไม่คล่องตัวในทางปฏิบัติ รวมถึงที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้ช่องว่างนี้ ไปร้องเอาผิดและเรียกค่าปรับกับผู้ประกอบการอย่างไม่เป็นธรรม
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ทาง อย.ลดการจัดทําฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศแบบแยกประเทศ หรือใช้สติ๊กเกอร์โดยไม่จำเป็น เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการพิมพ์ฉลากหลายภาษามากขึ้น สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนการผลิตสินค้ามากขึ้นอีกเท่าตัว ท้ายที่สุดจะทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าตามมา ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง พร้อมทั้งยังถูกมองว่า อาจเป็นการกีดกันทางการค้าผู้ประกอบการของไทยเสียเองหรือไม่ จึงเรียกร้องให้ทบทวนระเบียบกฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ออกมาในสิ้นเดือนนี้ โดยเปิดให้ยื่นเรื่องคัดค้านได้ภายใน 90 วัน จึงทำให้ตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่ม เข้ายื่นเรื่องคัดค้าน ต่อเลขาธิการ อย.ไปแล้ว จึงต้องติดตามว่าในสิ้นเดือนนี้จะมีความคืบหน้าจากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานอย.ออกมาอย่างไร