ขอแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คว้ารางวัล Grand Prize

ขอแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คว้ารางวัล Grand Prize สูงสุดของงาน Indonesia Inventors Day 2024 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ทีมนักประดิษฐ์สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย โดยสามารถคว้ารางวัล Grand Prize รางวัลสูงสุดของการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “Indonesia Inventors Day 2024” (IID 2024) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ณ Aston Denpasar Hotel and Convention Hall
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Grand Prize ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เครื่องดื่มสารสกัดเนื้อผลกาแฟคอฟโฟจีนิกดริ๊งค์” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา ศรีมะเริง วรรธนะภูติ และคณะ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มเสริมอาหารสารสกัดเนื้อผลกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากเนื้อผลกาแฟซึ่งเป็นเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมกาแฟ ทำให้ช่วยลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตได้และเป็นนวัตกรรมที่ทำในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยใช้กระบวนการสกัดที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรมกาแฟ ซึ่งยังมีคุณสมบัติทางด้านโภชนาการและมีสารสำคัญต่างๆ โดยนวัตกรรมดังกล่าวผ่านมาตรฐานรับรองและสามารถผลิตและจำหน่ายได้แล้ว



นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรมและและนวัตกรรมอีก 2 ผลงานที่ได้รับ Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
- รางวัล KIPA Special Award จาก Korea Invention Promotion Association สาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ผลงานเรื่อง “บาลานซ์-ดี ระบบเซ็นเซอร์ไร้สายเพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการล้ม พร้อมโปรแกรมการฝึกบริหารร่างกายเพื่อเพิ่มทักษะการทรงตัว” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริพันธุ์ คงสวัสดิ์ และคณะ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รางวัล Technopol Group Special Award จาก Technopol Group Moscow สหพันธรัฐรัสเซีย ได้แก่ ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมรัดนิ้วข้อมือหัก” โดย นายปรัชญา สร้างนา และคณะ จาก วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย
ในเวที IID ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยได้คว้าเหรียญรางวัลในระดับต่างๆ ดังนี้
- เหรียญทอง 14 ผลงาน
- เหรียญเงิน 9 ผลงาน
- เหรียญทองแดง 4 ผลงาน
พร้อมด้วย Special Prize จากประเทศต่างๆ อาทิ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐจีน เป็นต้น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและได้แสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที IID พร้อมกล่าวชื่นชมทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้ง โอกาสในการส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

สำหรับ 9 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัลในเวที Indonesia Inventors Day 2024 ได้แก่
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย
- วิทยาลัยการอาชีพไชยา
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
- โรงเรียนสายปัญญารังสิต