วช. และภาคีเครือข่ายวิจัย “สู้ภัย น้ำท่วม ร่วมใจ เยียวยา ฟื้นฟู ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”

วช. และภาคีเครือข่ายวิจัย “สู้ภัย น้ำท่วม ร่วมใจ เยียวยา ฟื้นฟู ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
วันที่ 16 กันยายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงนโยบายการขับเคลื่อนแผนงานมุ่งเป้าด้านการบริหารจัดการน้ำ และ เสวนา “สู้ภัย น้ำท่วม ร่วมใจ เยียวยา ฟื้นฟู ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ซึ่งมี ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แถลงนโยบายการขับเคลื่อนแผนงานมุ่งเป้าด้านการบริหารจัดการน้ำ และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำร่วมเสวนาในครั้งนี้ พร้อมทั้งผู้บริหาร วช. และ สกสว. เข้าร่วมงานฯ ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายจังหวัดในภาคเหนือ วช. ได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานตามนโยบายของความสำคัญของการดำเนินงานตามนโยบายของ อว. ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาติดตาม เฝ้าระวัง การบริหาร และประเมินเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภาวะอุทกภัย โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการบริหารจัดการน้ำ และหลายหน่วยงานใน อว. ได้ลงพื้นที่เพื่อบรรเทาผลจากอุทกภัย และได้มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. ร่วมกัน ซึ่งงานเสวนาเรื่อง “สู้ภัย น้ำท่วม ร่วมใจ เยียวยา ฟื้นฟู ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้สื่อสาร และแลกเปลี่ยนการทำงานการวิจัยและนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการทำงานต่อเนื่องในการลดความเสี่ยง และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ซึ่งยังคงต้องการการสนับสนุนของหลายภาคส่วน

ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึง การขับเคลื่อนแผนงานเป้าหมายของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ซึ่งแผนงานด้านการบริหารจัดการน้ำ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญจากจำนวน 11 เป้าหมายสำคัญ ของ กสว. ซึ่งภัยพิบัติทางน้ำที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงกันยายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มไปถึงเดือนตุลาคม เป็นผลกระทบมาจากไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากกว่าในอดีต โดยแผนงานด้านการบริหารจัดการน้ำประกอบด้วย keyword สำคัญ คือ ไม่ท่วม ไม่แล้ง มีน้ำดีใช้ ไม่มีน้ำเสีย กสว. จึงวางกลไกจัดการ ป้องกัน และช่วยเหลือปัญหาจากอุทกภัย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ในการนำงานวิจัยที่สำเร็จแล้วไปใช้ทันทีในภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงการฟื้นฟูโดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการกระจายความช่วยเหลือ ระยะกลาง และระยะยาวคือการคาดการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนภาควิชาการ การวิจัยและนวัตกรรมมีประโยชน์ต่อประเทศ สามารถนำไปใช้ได้จริง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงประชากร การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การใช้ทรัพยากร

หลังการแถลงนโยบายการขับเคลื่อนแผนงานมุ่งเป้าด้านการบริหารจัดการน้ำ ยังมีการเสวนาเรื่อง “สู้ภัย น้ำท่วม ร่วมใจ เยียวยา ฟื้นฟู ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ เป็นการแสดงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่นำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแนวทางการแก้ไข ฟื้นฟู และป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย

โดยได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย ด้านบริหารจัดการน้ำ วช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึง “แนวโน้มสถานการณ์พายุและฝน จากแบบจำลองอากาศ” ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยังมีร่องความกดอากาศต่ำที่ทำให้ฝนตกอยู่ และจากข้อมูลมีโอกาสร้อยละ 10 ที่จะมีพายุไต้ฝุ่นเข้าประเทศไทยช่วงปลายเดือนกันยายน และ ต้นเดือนตุลาคม อีก ซึ่งไม่รุนแรงเท่าซุปเปอร์ไตฝุ่นนางิ จะในการคาดการณ์ของสถานการณ์จะต้องปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่ร่วมด้วย
ผศ. ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “การประยุกต์ใช้เทคนิคประมาณน้ำท่า” กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของบริเวณเชียงรายน่าจะขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบันเล็กน้อยและจะลดลงตามลำดับ ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำจะขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และให้ติดตามสภาพพายุไต้ฝุ่นจากทะเลจีนใต้อย่างใกล้ชิด
ผศ. ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยให้ข้อมูล “การประมาณความเสียหายจากน้ำท่วม จากภาพถ่ายดาวเทียม” ชี้ประเด็น ข้อมูลจากดาวเทียมเหมาะที่จะนำมาใช้ในการวางแผน ร่วมกับข้อมูลจากกรมการปกครองเพื่อจัดลำดับในการช่วยเหลือ โดยแบ่งปันข้อมูลร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้การดำเนินงานตรงจุด (สามารถแบ่งประเภท อายุ พื้นที่ได้จากระบบที่พัฒนาขึ้น)
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน นำเสนอ “มาตรการการบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันน้ำท่วม” ที่กรมชลประทานใช้ผลจากการคาดการณ์ปริมาณฝนในการวางแผนบริหารจัดการแหล่งกักเก็บน้ำ โดยการพร่องน้ำเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ รวมถึงใช้เทคนิคการสร้างคันป้องน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ในเขตอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเทคนิคที่ลงทุนน้อย แต่ระบายน้ำได้มาก ซึ่งสถานการณ์โดยสรุปในส่วนของเชียงรายละมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ในส่วนหนองคายซึ่งเขื่อนชัยบุรีลดการระบายน้ำจะทำให้ระดับน้ำลดลง และในส่วนภาคกลางถือว่าอยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้ต้องประเมินสถานการณ์ฝนขณะนี้ และพายุไต้ฝุ่นช่วงปลายเดือนกันยายน – ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งแก้มลิงในส่วนของทุ่งบางระกำและบางบาลยังสามารถรองรับได้
และปิดท้ายด้วย รศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวถึง “การเยียวยา ฟื้นฟูหลังประสบภัย” โดยยกตัวอย่างการดำเนินงานในพื้นที่ประสบภัยของมูลนิธิมดชนะภัยทั้งในเหตุการณ์ดินถล่ม และแผ่นดินไหว ซึ่งพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญคือพื้นที่ทับซ้อนที่ยังยากต่อการบริหารจัดการ รวมถึงเทคโนโลยีที่นำไปใช้หลัก ๆ จะต้องง่ายต่อการบำรุงรักษา ระยะยาวต้องมีนโยบายและการออกกมสนับสนุนเพื่อการขับเคลื่อนที่เป็นทางการ

ทั้งนี้ วช. ได้ดำเนินการตามนโยบายของ อว. ในการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมกับ อว. ส่วนหน้า เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที