“ผู้ขับขี่มอร์เตอร์ไซค์-ผู้สูงอายุ-คนเดินเท้า” ครองแชมป์ตายจากอุบัติเหตุสูงสุดในรอบ 10 ปี
“ผู้ขับขี่มอร์เตอร์ไซค์-ผู้สูงอายุ-คนเดินเท้า” ครองแชมป์ตายจากอุบัติเหตุสูงสุดในรอบ 10 ปี ตัวเลขสูงสุดกว่า 17,000 คนต่อปี ไม่รวมพิการอีกปีละร่วมหมื่นคน 3 กลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ยังครองแชมป์ เหตุใหญ่เพราะไม่สวมหมวกนิรภัย ตามด้วย ผู้สูงอายุ และ คนเดินเท้า อดีตที่ปรึกษาด้านการป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลก ชี้เป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ไม่มีวันบรรลุเป้าหมาย ขณะที่ไทยยังครองตำแหน่งเนียวแน่น อุบัติหเหตุสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์และอดีตที่ปรึกษาด้านการป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (Regional advisor WHO SEARO, Ret. ) เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการรณรงค์และสร้างองค์ความรู้ด้านจักรยานยนต์ปลอดภัยมาถึง 3 เฟส ครั้งนี้เป็นเฟสที่ 4 ของโครงการ ซึ่งไม่ได้เน้นผู้ขับขี่ ผู้ซ้อนท้าย หรือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเช่นคนเดินเท้า ฯลฯ แต่จะเน้นคนไทยและประเทศไทย ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ที่ต้องปลอดภัยจากภัยจักรยานยนต์ เป็นเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากสถิติการตายและบาดเจ็บจากจักรยานยนต์ในประเทศไทยไม่เคยลดลงเลยตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจขององค์กรอนามัยโลก ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บสาหัส จากอุบัติเหตุทางถนน เฉลี่ย 228,740 และในทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เฉลี่ย 17,914 คนต่อปีและมีผู้พิการอีกกว่า 10,000 คน
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามในการลดอุบัติเหตุด้วยมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคือการตั้งเป้าหมายการลดอุบัติเหตุร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์แห่งชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนก่อนปี 2570 ที่จะถึงในอีก ไม่ถึง 3 ปีข้างหน้านี้ ช้อมูลจากสถาบันวิจัยพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI ระบุว่า แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 5 มุ่งเน้นการจัดการกับความเสี่ยงหรือภัยคุกคามสำคัญของประเทศอย่างจริงจัง เร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมประเด็น ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และกลุ่มผู้เดินทางที่มีความเปราะบางเป็นสำคัญ ซึ่งพบว่า 3 กลุ่มเสี่ยงสำคัญของอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้แก่ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ผู้สูงอายุ และ คนเดินเท้า
“จะเห็นได้ว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นกลุ่มแรกของความสูญเสียสูงสุด และพบว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนผู้เสียชีวิตที่ขับขี่รถจักรยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 74.5 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และในปี 2565 กว่า 86.82% เป็นผู้เสียชีวิตที่ไม่สวมหมวกนิรภัย”หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย บอกและว่า ในส่วนของผู้สูงอายุ ข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ ระบุชัดเจนว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และจำนวนผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5.45% ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มเสี่ยงผู้ใช้รถใช้ถนนกลุ่มอื่นๆ ส่วนคนเดินเท้ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นอันดับที่ 3 รองจากผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ในช่วงปี 2561-2565 มีผู้เสียชีวิตจากการเดินเท้าเฉลี่ยเดือนละ 32.97 คน หรือมีผู้เสียชีวิตจากการเดินเท้าอย่างน้อยวันละ 1 คนทุกวัน
อดีตที่ปรึกษาด้านการป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ยังกล่าวด้วยว่า ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ มีเป้าหมายการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือเท่ากับ 12 คนต่อประชากรแสนคน หรือ 8,478 คน ในปี 2570 ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่แบบทุกวันนี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่พยายามออกมาตรการที่จะช่วยปกป้องชีวิตของประชาชนแล้ว โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย