ภาครัฐเล็งดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรมหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมอาหารอนาคต

ภาครัฐวางแนวทางหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าเสริม พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ สร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สอวช. ได้เข้าร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการในการเสวนา Journey to Impact: การยกระดับและเสริมสร้างความเชื่อมั่น-การยอมรับ Functional Food & Ingredients โดย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมสร้างเส้นทางยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีไปสู่เป้าหมายในการเป็น Food Hub ของโลก ในงาน TRIUP FAIR 2024 “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2567” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

นางสาวสิรินยา กล่าวว่า การยกระดับเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ Functional Food & Ingredients ที่มาจากนวัตกรรมของคนไทยเป็นสิ่งที่นักวิจัยและผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากอาหารฟังก์ชันและส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการพูดถึงในวงการวิจัยว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้และบริโภคอาหารประเภทนี้มากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกอาหารในอันดับต้น ๆ ของโลก การมีอุตสาหกรรมใหม่ คือ อาหารอนาคตในกลุ่มอาหารฟังก์ชันและส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่นี้ขึ้นมาเพราะอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องใช้การวิจัยที่เข้มข้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกพบกับความท้าทายจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนและภาวะภัยแล้ง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านวัตถุดิบ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมาจากภาคเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ รวมถึงการแปรรูป ซึ่งปัจจุบัน 25% ของแรงงานไทยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ แนวคิดหลักของรัฐบาลจึงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับภาคการเกษตรและปศุสัตว์ของไทยขึ้นมาเป็นอาหารที่สร้างมูลค่าได้ เนื่องจากเรามีโอกาสจากตลาดอาหารฮาลาลที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และตลาดอาหารฟังก์ชันที่คนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม สร้างรายได้” จึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อไปสู่การเป็น Food Hub ของโลก

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารอนาคตที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากนิยามอาหารแห่งอนาคตไทยพบว่าตอบโจทย์ในเรื่อง Future Well-Being, Sustainability และ Innovation โดยในเรื่องความยั่งยืนตอบโจทย์ชัดมาก จากการบริโภคอาหารที่ผ่านนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสถานการณ์อาหารอนาคตมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคเริ่มรับรู้เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และหันมารับประทานอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ส่งผลให้อัตราการส่งออกอาหารอนาคตในช่วงเวลาดังกล่าวเติบโตขึ้นสูงสุดถึง 24% และข้อมูลการส่งออกอาหารอนาคตไทยในปี 2024 ช่วงครึ่งปีแรก กว่า 43% อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในอีก 3 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน EU27 และสหราชอาณาจักร
ซึ่งกลุ่มอาหารที่มีการส่งออกมาก คือ กลุ่ม Nutrition Food นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผลไม้อบแห้ง ที่ให้ไฟเบอร์สูงและมีสูตรปรับลดน้ำตาลต่างๆ ส่วนในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่เติบโตมากจะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม ส่วนในกลุ่ม Functional Ingredient ประเทศไทยก็มีการส่งออกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้สิ่งที่อยากฝากคือ ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่จะต้องให้ความสำคัญด้วย คือ อาหารต้องเพียงพอ ประชาชนเข้าถึงได้ และมีโภชนาการที่ดี เชื่อมโยงกับการทำตลาดที่เป็นเรื่องสำคัญ

ด้านเภสัชกรเลิศชาย กล่าวถึงการดำเนินการที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย อย. ได้ยึดการทำงานตาม Core Value 5S ที่ประกอบด้วย 1.Speed เพิ่มความเร็วในการดำเนินการ 2.Safety ความปลอดภัย 3.Satisfaction ความพึงพอใจ 4.Shift ปรับบทบาทจากหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ไปเป็นหน่วยงานสนับสนุน (Supporter) และ 5.Sustainability ตอบโจทย์ความยั่งยืน ที่ไม่เฉพาะกับโลกแต่เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ ประชาชนและองค์กรด้วย และในปีหน้า อย. วางแนวคิดขับเคลื่อนผ่าน Triple-A Policy Impact Ignite Thailand: FDA EcPRESSO ABCD ซึ่ง Triple-A ได้แก่ Approve Anywhere Anytime ส่วนของ Ec คือ การตอบโจทย์การออก e-certificate ของราชการที่จะช่วยลดภาระผู้ประกอบการ และต้องมี PRESS ในเรื่องการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะส่วน O คือ Opportunity หรือโอกาส โดยเฉพาะเรื่องเวลา ในการลดเวลาการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการลง 50%

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวว่า ถ้ามองถึงระบบนิเวศในการทำ Future Food ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางปลอดภัย ในการทำการเกษตร ซึ่ง วว. มีห่วงโซ่คุณค่าการทำเกษตรปลอดภัย ผ่านการรับรองมาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อน มีการพัฒนาการทำแปรรูป มีหน่วยรับรองคุณภาพตามที่ อย. กำหนด และมีโครงสร้างพื้นฐานในส่วนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ แต่การจะทำให้เกิดเป็น Functional Food อาจจะเป็นเส้นทางที่ใช้เวลานาน เพราะการจะทำของให้มีมูลค่าสูงต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือสูงเช่นกัน ต้องคิดว่าจะนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเสริมได้อย่างไร ซึ่งถ้าในอนาคตมีการขึ้นทะเบียน Positive Lists ไว้ในจำนวนมาก ก็จะช่วยลดระยะเวลาการผลิตภัณฑ์ให้สั้นลง และถ้ามีการทำ Pool Resource ใช้ทรัพยากรร่วมกันก็น่าจะเกิดประโยชน์มากขึ้น

รศ.ดร.วาณี กล่าวถึงการให้ทุนของ บพข. แผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง แผนงาน F3 เป็น Flagship ในการยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredient, Functional Food, Novel Food ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศ โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจ BCG บทบาทของ บพข. คือ การให้ทุนวิจัยเพื่อเข้าไปปิดช่องว่างต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการขยายสเกลการผลิตจากห้องปฏิบัติการออกสู่ตลาด ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยี และการผลักดันให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐาน เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารมูลค่าสูงทั้งระบบ

