นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ ปลูกไม้วงศ์ยางได้เห็ดมูลค่าสูง สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน
นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ ปลูกไม้วงศ์ยางได้เห็ดมูลค่าสูงสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน
เคยสงสัยไหมว่า ทำไม ผู้ใหญ่จึงมักพูดติดปากว่าให้กิน “หมู เห็ด เป็ด ไก่” เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำไมเห็ดจึงถูกจัดหมวดหมู่อยู่กับสัตว์ ทำไมไม่อยู่กับพืช
ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขข้อข้องใจว่า สมัยก่อนคนคิดว่าเห็ดเป็นพืช แต่ความจริงแล้วเห็ดมีวิวัฒนาการหรือมีบรรพบุรุษร่วมกับสัตว์ไม่ใช่พืชเลย จึงไม่แปลกที่เวลาเรากินเห็ดจะมีรสหวานแบบผงชูรส เนื่องจากในดอกเห็ดมีอามิโนแอซิส ที่เรียกว่ากลูตามิสแอซิส รสชาติ รสชาติจึงคล้ายกัน เห็ดมีรสชาติอร่อย ได้โปรตีนสูง คนอีสานและคนเหนือจะนิยมกินเห็ดมาก เนื่องจากมีทางเลือกน้อย นอกจากแมลงแล้วก็มีเห็ดที่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญเทียบเท่าเนื้อสัตว์ เวลาถึงฤดูเก็บเห็ดเขาจะมีความสุขกันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เห็ดอยู่ในวิถีของชาวบ้านมาช้านาน และคนโบราณก็ฉลาดมากที่สามารถแยกเห็ดออกจากพืชมาอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่ให้โปรตีนสูง
เราจึงพยายามที่จะให้ชาวบ้านเพาะเห็ด นอกจากจะเป็นอาหารในครัวเรือนแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย แต่เห็ดมูลค่าสูงจะต้องเกิดจากไม้วงศ์ยาง ที่ปัจจุบันเหลือน้อยมาก เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีหลายหน่วยงานพยายามส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูป่า โดยการปลูกป่าเพิ่ม แต่ก็เอาไม้ที่ไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวบ้านมาปลูก จึงมีคำถามว่า “ปลูกป่าแล้วได้อะไร”
“เรารู้ว่าชาวบ้านชอบกินเห็ด เราจึงได้ทำการสำรวจ ค้นคว้า วิจัย จนได้พบกับ “ราเอคโตไมคอร์ไรซา” ที่จะเติบโตได้ดีในไม้วงศ์ยาง เราจึงให้ชาวบ้านปลูกป่าประเภทไม้วงศ์ยาง ซึ่งนอกจากจะได้ต้นไม้ที่จะเติบใหญ่เป็นป่าในอนาคตแล้ว ยังได้เห็ดหลายชนิดที่ขึ้นบริเวณรากต้นไม้เป็นผลพลอยได้ ช่วยเพิ่มช่องทางหาเลี้ยงชีพให้ชาวบ้านและเกษตรกรไทย เพราะเห็ดก็คือพืชวิถีชีวิตของเกษตรกร”
คณะวิจัยฯ ได้เลือก จ.น่าน นำร่อง เนื่องจากเป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือที่เคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลพวงจากการพัฒนาสมัยใหม่ทำให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม หลายพื้นที่กลายเป็นเขาหัวโล้น ทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อเกิดน้ำหลาก ก็จะพัดพาเอาดิน โคลน ตะกอน ไหลลงสู่แหล่งน้ำที่เป็นเส้นชีวิตของชุมชน และเมื่อถึงฤดูแล้ง ก็จะเพาะปลูกไม่ได้เนื่องจากสภาพดินเสียความสมบูรณ์
“เราจึงเริ่มต้นจากการเพาะเลี้ยงราเอคโตไมคอร์ไรซาในห้องปฏิบัติการ แล้วนำไปขยายใส่ให้กับ กล้าไม้วงศ์ยางที่เรือนเพาะชำ หลังจากปลูกต้นไม้วงศ์ยางได้ 4-5 ปี ก็มีเห็ดขึ้นบริเวณรากต้นไม้ จากนั้นได้ขยายผลมาทำโครงการวิจัยในพื้นที่ของจุฬาฯ ใน จ.สระบุรี ซึ่งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมถูกบุกรุกทำลายเช่นกัน”
จากคลุกคลีกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับราไมคอร์ไรซามากว่า 20 ปี ดร.จิตรตรา อธิบายถึงความพิเศษของราชนิดนี้ว่า “ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) มีที่มาจากคำว่าไมคอร์ที่แปลว่า “รา” กับไรซาที่แปลว่า “ราก” ไมคอร์ไรซาจึงหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรากับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เชื้อราไมคอร์ไรซาจะหาน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ส่งให้พืช ในขณะที่พืชก็สังเคราะห์แสงแล้วสร้างอาหารส่งลงมายังรากซึ่งมีเส้นใยราอยู่รอบ ๆ ซึ่งนอกจากราจะหาอาหารให้พืชแล้ว ยังทำให้พืชแข็งแรง ช่วยป้องกันอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชอีกด้วย และพบว่าพืชที่มีราไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่จะเจริญเติบโตได้ดี ทนแล้ง ทนต่อความเป็นกรดด่างของดินได้ ทำให้พืชมีอัตราการรอดตายสูง”
จากรายงานการศึกษาวิจัยปัจจุบันทำให้ทราบว่าไมคอร์ไรซามีบทบาทสำคัญมากกับระบบนิเวศป่า ทั้งนี้เนื่องจากเส้นใยราไมคอร์ไรซาใต้ดินที่แผ่ขยายไปทั่วผืนป่าเป็นเครือข่ายที่ต้นไม้ในป่าใช้สื่อสารซึ่งกันและกันทั้งเรื่องของอาหาร สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการเจริญเติบโตและการอยู่รอด หรือที่เรียกว่า “Wood Wide Web” ทำให้เราทราบว่าต้นไม้ในระบบนิเวศป่ามีการติดต่อสื่อสารหรือคุยกันผ่านสายใยของราไมคอรไรซานี้เอง
ไมคอร์ไรซาสามารถแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) เป็นราที่เจริญอยู่รอบรากพืชและรอบๆ เซลล์รากพืช และ เอ็นโดไมคอร์ไรซา (endomycorrhiza) เป็นราที่เจริญอยู่ในเซลล์พืช “เอคโตไมคอร์ไรซามีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยอยู่อาศัยร่วมกับรากพืชจำพวกไม้ป่า เช่น ไม้วงศ์ยาง เช่น ยางนา ยางแดง เหียง ตะเคียน พลวง พะยอม เต็ง รัง ฯลฯ ไม้วงศ์ก่อ วงศ์สนเขา และวงศ์ยูคาลิปตัส และยังเป็นราที่สร้างดอกเห็ด ซึ่งเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของรากลุ่มนี้ โดยอาศัยความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญขึ้นมาเป็นดอกเห็ด สร้างสปอร์แพร่ขยายพันธุ์ต่อไปเป็นวัฏจักรหมุนเวียนไป”
ผศ.ดร.จิตรตรา กล่าวอีกว่า หลังจากลงมือปลูกกล้าไม้วงศ์ยางนาที่มีราเอคโตไมคอร์ไรซา เพียง 4 ปีก็จะมีเห็ดขึ้นโดยรอบต้นไม้ โดยในตอนแรกจะพบเห็ดน้ำหมากเป็นส่วนมาก และในปีต่อ ๆ มา เมื่อต้นไม้เริ่มใหญ่ขึ้น จำนวนดอกเห็ดจะลดลง แต่มีความหลากหลายมากขึ้นตามฤดูกาล เช่น เห็ดเผาะจะพบมากในช่วงปลายร้อนต้นฝน หรือราวเดือนพฤษภาคม ส่วนในช่วงหน้าฝน เห็ดไมคอร์ไรซาที่พบมาก ได้แก่ เห็ดระโงกต่างๆ เห็ดน้ำหมาก เห็ดตะไคล เห็ดผึ้ง เห็ดขมิ้น เป็นต้น ซึ่งปริมาณความชื้นในดินจะเป็นตัวกำหนดชนิดและความหลากหลายของเห็ด นอกจากนี้เมื่อป่ามีความสมบูรณ์ขึ้น เห็ดอื่นๆ ที่ไม่ใช่เห็ดไมคอร์ไรซาก็จะเกิดขึ้น เช่น เห็ดโคน เห็ดลม เห็ดขอน เป็นต้น
“เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดหมาก ฯลฯ เป็นเห็ดประเภทไมคอร์ไรซา ที่มีราคาแพงเนื่องจากเพาะ ขึ้นเองไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นบริเวณรากของต้นไม้ในป่าเท่านั้น เห็ดเหล่านี้จะโตในป่าเต็งรังซึ่งเป็นไม้วงศ์ยาง ดังนั้นถ้าอยากได้เห็ดต้องปลูกต้นไม้” ผศ.ดร.จิตรตรา กล่าว
นอกจากพื้นที่ทางภาคเหนือแล้ว ผศ.ดร.จิตรตรา กล่าวว่าวิธีการปลูกป่าในโครงการนี้สามารถนำไปใช้กับการปลูกป่าไม้พื้นถิ่นได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพราะไม้วงศ์ยาง ไม่เพียงสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน แต่ยังเป็นหนึ่งในไม้ที่ช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดีด้วย นี่คือคำตอบว่า ปลูกป่าแล้วได้อะไร