เอไอ ไม่ใช่ปัญหา ถ้ารู้จักใช้อย่างสร้างสรรค์ 4 องค์กร ผนึกกำลัง จัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเอไอ

เอไอ ไม่ใช่ปัญหา ถ้ารู้จักใช้อย่างสร้างสรรค์ 4 องค์กร ผนึกกำลัง จัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเอไอ เตรียมพร้อมรับมือในอนาคต

เครือข่ายการจัดการความรู้ประเทศไทย (Thailand Knowledge Management Network – TKMN) โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD สถาบันเพื่อการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IKI-SEA), ทริส คอร์ปอเรชั่น (TRIS) และสถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) แถลงข่าวเตรียมจัดงานสัมมนา “การจัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์: ก้าวสู่อนาคต” (AI-Driven Knowledge Management: Shaping the Future) โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรจัดการความรู้ชั้นนำของประเทศ ณ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ


นายพลสันต์ กุลละวณิชย์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายความรู้องค์กรและปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) กล่าวถึงการเดินทางของการจัดการความรู้ของ ปตท.สผ. ว่า โจทย์ใหญ่ของ ปตท.สผ. คือ การสำรวจและผลิตปิโตรเลี่ยม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ดังนั้นการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง ปตท.สผ. ได้เริ่มบริหารองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ จากนั้น create องค์ความรู้ เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากร และต่อยอดขยายธุรกิจไปยังเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 50 ประเทศ ทั้ง พม่า มาเลเซีย กลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยในช่วงแรกมีการจัดเป็น Technical forum จนพัฒนาเป็น KM Week และ Business forum
“การเดินทางของการจัดการความรู้ไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน ต้องพัฒนา และหาวิธีใหม่มาทำอยู่เรื่อย ๆ หยุดไม่ได้ เพราะถ้าหยุดเมื่อใด ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ การลงทุนที่ได้กำไรมากที่สุดคือ การลงทุนในองค์ความรู้และพัฒนาคน องค์ความรู้เปรียบเหมือนสีในกระป๋อง ต้องนำมาใช้ถึงจะได้ประโยชน์ ยุคนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล คนเราใช้เทคโนโลยีได้ แต่อย่าหลงต้องคิดและทำและพัฒนาไปพร้อมกัน” นายพลสันต์ กล่าว


ดร.อภิชาติ ประเสริฐ รองผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า เอไอเป็นเครื่องมือ ที่จะเข้าไปช่วยในทุกกระบวนการจัดการความรู้ และเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากทั่วโลก เพื่อนำข้อมูลความรู้เหล่านั้น ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่า ข้อมูลองค์ความรู้นั้นอยู่ตรงไหน และจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง เข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้แท้จริง ในส่วนของ OKMD เรามี okmd Knowledge Portal ที่คนสามารถเข้ามาสอบถามว่าอยากรู้เรื่องต่าง ๆ ซึ่ง เอไอของ OKMD จะสามารถตอบได้ว่าความรู้อยู่ที่ไหน รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ก็จะสามารถแนะนำเพื่อบริหารจัดการความรู้ได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาและแรงงานคน สิ่งสำคัญคือเราจะวางระบบอย่างไรเพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น
“เอไอสามารถรวบรวมข้อมูลไว้ได้มหาศาลมากและเปิดกว้างสำหรับการค้นหาและนำไปใช้ ถ้าหากเราใช้ได้อย่างถูกต้องก็จะมีประโยชน์ในหลายแง่มุม แต่ต้องคำนึงถึง ศีลธรรม จริยธรรม และกรอบของกฎหมาย อย่างเช่น เรื่องลิขสิทธิ์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องคำนึงถึง ขณะเดียวกันเมื่อเอไอเข้ามาเกี่ยวข้องกับคน และมีโอกาสที่จะแทนคนได้ จึงทำให้คนเกิดทัศนคติที่ต่อต้าน แล้วเราจะจัดการกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร ว่าเอไอจะช่วยได้อย่างไร และการมีเอไอจะทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น

อย่างไร นี่คือสิ่งท้าทายที่ต้องพูดคุยกันในระดับนโยบายว่าจะจัดการอย่างไร โดยส่วนตัว อยากเห็นรัฐบาลให้การสนับสนุนการจัดการความรู้อย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป” ดร.อภิชาติ กล่าว


ดร.วินเซนต์ ริเบียร์ ผู้อำนวยการ IKI-SEA กล่าวว่า การจัดการองค์ความรู้มีหลายกระบวนการ และการใช้เอไออย่างสร้างสรรค์ ก็จะช่วยให้กระบวนการจัดการความรู้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอย้ำว่า คนยังมีความจำเป็นในการบริหารจัดการเอไอให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่าง หมอ ใช้เอไอเพื่อให้การทำงานเพื่อช่วยพัฒนาการรักษาทางการแพทย์ได้ดีขึ้นยิ่งขี้น เช่น ในการค้นหาโรคหายากบางชนิดที่จำเป็นต้องค้นคว้าข้อมูลจากทั่วโลก แต่เอไอรักษาคนไม่ได้
“องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้เอไอในการจัดการความรู้ต่างๆ ได้ แต่ข้อมูลที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพ ในส่วนของประเทศไทยนั้นยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป” ดร.วินเซนต์ กล่าว


ดร.อัมพร แสงมณี กรรมการผู้จัดการ TRIS กล่าวว่า เอไอทำหน้าที่แทนคนได้ในระดับปานกลางเท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถลงลึกในเรื่องของความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เหตุผล ดังนั้น จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับเอไอ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งหากเราเข้าใจรายละเอียดของเอไอ ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพราะเอไอทำในสเกลที่คนทำไม่ได้ซึ่งมันจะโยงไปสู่ Productivity ของประเทศ

รศ.ดร.บวร ปภัสราทร ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมอง กล่าวว่า การใช้เอไอในเชิงสร้างสรรค์หากใช้ควบคู่กับการจัดการองค์ความรู้ที่ดี ที่จะทำให้คนธรรมดาใช้งานได้ แต่ในโลกปัจจุบันพอมีเอไอที่เก็บข้อมูลเอาไว้มาก พอนำไปประมวลผลให้เหมาะกับบุคคล มันอาจจะไม่ตรงกับเรา ซึ่งที่น่ากังวลคือ คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ออกระหว่าง การสร้างสรรค์ (Creativity) กับ Transformation (การถ่ายทอดความรู้) ว่าต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ตาม การใช้เอไออย่างสร้างสรรค์จะช่วยลดกำแพงทางด้านภาษาและทำให้การทำงานได้เร็วและง่ายขึ้น