สวทช. ผนึกกำลัง กพร.ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อขยายผลและผลักดันการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมเผยผลสำเร็จการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ตอบรับนโยบาย MIND ของ อก. โดยเฉพาะมิติที่ 1 “ความสำเร็จทางธุรกิจ” ซึ่งเน้นการยกระดับเทคโนโลยีสู่การผลิตสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยี 4.0

1 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องแซฟไฟร์ ชั้น 2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ: ดร.อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพื้นฐานก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ปีที่ 3” และ พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กพร. และ สวทช. โดยกล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมผนึกกำลังอย่างเป็นทางการในการขยายผลและผลักดันการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในภาพรวม
โดย กพร. และ สวทช. จะร่วมกันพัฒนา แลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงานผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย (Thailand i4.0 Index) การให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยี 4.0 ให้แก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมพื้นฐาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมถึงสถานประกอบการอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนใจ รวมทั้งร่วมกันผลักดันสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ให้แก่สถานประกอบการตามความเหมาะสม เพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจาก BOI สำหรับสถานประกอบการที่ได้รับการตรวจประเมินและประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0

“ความร่วมมือระหว่าง กพร. และ สวทช. ในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของ กพร. ให้เกิดผลสำเร็จในวงกว้างเพิ่มขึ้น และจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ประกอบการที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 ที่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ได้ รวมถึงโอกาสได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมที่ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันผลักดันต่อไป
แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะได้จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 คือ ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตที่ลดลง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง Success cases ของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมพื้นฐานเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของ กพร. ที่ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ทุกรายสามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็นมูลค่าตั้งแต่หลักแสน ถึงหลักล้านบาทต่อปี ต่อราย ดังนั้น หากมีการขยายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมเหมืองแร่” ดร.อดิทัต กล่าว

ด้าน ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีวิสัยทัศน์เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ กพร. มีภารกิจในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจำเป็นที่ต้องทำงานร่วมกันสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้เกิดการประยุกต์ใช้ วทน. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้นตลอดจนขับเคลื่อนและผลักดันงานต่าง ๆ ให้เกิดการถ่ายถอดและขยายผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

“ในปีที่ผ่านมา สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์การสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ จึงได้จัดตั้ง Industry 4.0 Platform ขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการด้านต่าง ๆ ในการยกระดับสถานประกอบการให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาสามารถประเมิน Thailand i4.0 Index ไปแล้ว 405 ราย ให้คำปรึกษาเพื่อการปรับปรุงสายการผลิต 204 ราย และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการกว่า 68 ราย โดยในปีนี้ได้มีการพัฒนารูปแบบการประเมินแบบออนไลน์และทำได้ด้วยตนเอง (Online Self-Assessment) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถรู้ผลได้ทันที ทำให้ทราบแนวทางในปรับปรุงยกระดับองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยในปีที่ผ่านมามีอุตสาหกรรมพื้นฐานเข้ารับการประเมินแล้วกว่า 30 ราย” ดร.สมบุญ กล่าว



สำหรับงานสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพื้นฐานก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ปีที่ 3” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาและยกระดับการประกอบการสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยมีการบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้การประเมินความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วย Thailand i4.0 Index การขอรับสิทธิประโยชน์จากการยกระดับองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผลสำเร็จของการพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมพื้นฐานเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตลอดระยะเวลา 3 ปี (ปี 2565–2567) และได้รับเกียรติจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการมาร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ตัวอย่างผลสำเร็จการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 ของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ