สกว.ชูงานวิจัย “ลานสกาโมเดล”
ชุมชนร่วมเฝ้าระวังไข้เลือดออก
หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ระบบการเฝ้าระวังไข้เลือดออกโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” นำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช หวังให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นโมเดลต้นแบบของชุมชน ทั่วประเทศ ที่สามารถสร้างมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกที่เฝ้าระวังในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา รองผู้อำนวยการ หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-Based Collaborative Research) สกว. กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีถึงสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกปีนี้อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยถึงแสนกว่ารายและมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่าร้อยคน โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากข่าวจากสื่อตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการยับยั้งการระบาดนี้ โดยเฉพาะการป้องกันและดูแลโดยชุมชนเอง
ผลงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำจังหวัดนครศรีธรรมราช” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สกว. และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของพื้นที่ ร่วมกับการทำงานกับกลไกและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยที่งานวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว กลไกและภาคีในพื้นที่ก็สามารถดำเนินงานแก้ไขปัญหาของตนเองได้
ด้าน รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง นักวิจัยจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่มีอัตราการป่วยด้วยไข้เลือดออกซ้ำๆ ในบรรดา 23 อำเภอของจังหวัด โดยสถิตการป่วยโรคนี้ย้อนหลัง 5 ปี (2552 – 2556) สูงกว่าค่ามาตรฐาน ที่กำหนดคือมากกว่า 50 รายต่อประชากร 1 แสนคน เมื่อมีการทำวิจัยโดยการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาโรคนี้โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมกับการดำเนินการในภาคครัวเรือน พบว่าอัตราการป่วยลดลงในปี 2557 และไม่พบอัตราการตาย
การวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้ข้อค้นพบว่า เราสามารถสร้างนวัตกรรมในการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำระดับหมู่บ้าน ทำให้รู้แต่ละหมู่บ้านมีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด เกิดรูปแบบก่ารแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นระบบตั้งแต่ครัวเรือนถึงภาพรวมของอำเภอ โดยมี อสม.เป็นกลุ่มที่ดูแลเข้าถึง ทุ กครัวเรือน มีการเก็บข้อมูลดัชนีลูกน้ำยุงลายทุกๆวันที่ 25 ของเดือน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปคำนวณ ประชุมวางแผน
อาจกล่าวได้ว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้มีส่วนกระตุ้นให้แกนนำชุมชน อสม. ตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกและการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมครอบคลุมทั้งอำเภอ มีนวัตกรรมเกณฑ์การประเมินหมู่บ้านเสี่ยง สมรรถนะชุมชนและรูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของพื้นที่เสี่ยงสูง รวมถึงในส่วนของโปรแกรมดัชนีลูกน้ำยุงลายนั้น สามารถนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่พื้นที่อื่นๆได้
อนึ่ง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน จำนวน 11,427 ครัวเรือนประชากรจำนวน 43,056 คน มีอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกที่ซ้ำๆอันดับต้นๆ จาก 23 อำเภอของจังหวัด โดยมีอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ย้อนหลัง 5 ปี (พ.ศ. 2552, 2553, 2554, 2555 และ 2556) พบอัตราการป่วย (ราย/ประชากร 1 แสนคน) ที่สูงกว่าค่ามาตรฐาน (50 ราย/ประชากร 1 แสนคน) 175.4, 833.9, 52.4, 209.8, และ 467.9 ตามลำดับ และพบอัตราป่วยตายเมื่อ พ.ศ. 2553 และ 2555 จำนวน 4 และ 1 ราย (ร้อยละ 1.15 และ 1.12) ตามลำดับ
อัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 – 2558
ต่อมาได้มีการดำเนินการป้องกันควบคุมโรค ปี พ.ศ. 2557 ด้วยการพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกที่มีส่วนร่วมของชุมชนเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 8 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลลานสกา และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอลานสกา ผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่น ตลอดถึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมกับการดำเนินการในภาคครัวเรือน ทำให้อัตราการป่วยลดลงพบว่าในปี พ.ศ. 2557 มีอัตราป่วย 164.9 รายต่อประชากร 1แสนคน โดยแนวโน้มของการระบาดต่างไปจากรูปแบบเดิมที่ระบาดปีเว้นปี เพราะในปี พ.ศ. 2558 (มกราคม- กันยายน 2558) มีอัตราการป่วยลดลง 64.5 รายต่อประชากร 1 แสนคน แม้ว่าจะสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (50 ราย/ประชากร 1 แสนคน) แต่ไม่พบอัตราการป่วยตาย
ภาพ-เวบไซต์มหาวิทยาลัย http://www.wu.ac.th/