เครือข่ายสตรีฯ ยื่น 5 ข้อถึงปลัดพม. ร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
เครือข่ายสตรีฯ ยื่น 5 ข้อถึงปลัดพม. ร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยข้อมูลข่าวตรงเป๊ะกับข้อมูลผู้ประสบปัญหาที่ขอความช่วยเหลือ สุดห่วงอาวุธปืนส่งผลเจ็บสาหัสทั้งร่างกาย และจิตใจ ยกข่าวล่าสุดฆ่ายกครัว เหตุเกิดวันยุติความรุนแรง พบใช้ปืนเป็นอาวุธ เหล้าเป็นปัจจัยร่วม
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนรถปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายชุมชน วัดสวัสดิ์วารี เครือข่ายชุมชนซอยพระเจน กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและในคู่รัก
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเก็บรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 พบข่าวจำนวน 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% ที่พบมากสุดคือ ข่าวทำร้ายกัน 433 ข่าว คิดเป็น 39.9% เกิดขึ้นระหว่างสามี-ภรรยามากที่สุด 152 ข่าว คิดเป็น 35.1% ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก 108 ข่าว คิดเป็น 24.9% ระหว่างคู่รักแบบแฟน 102 ข่าว คิดเป็น 23.6% ระหว่างเครือญาติ 71 ข่าว คิดเป็น 16.4% สาเหตุจากการหึงหวง ง้อขอคืนดีไม่ได้ โมโห บันดาลโทสะ
รองลงมาคือ ข่าวฆ่ากัน 388 ข่าว คิดเป็น 35.7% เกิดขึ้นในคู่สามี-ภรรยา 168 ข่าว คิดเป็น 43.3% อาวุธที่ใช้มากสุดคือปืน 64 ข่าว คิดเป็น 49.3% มีดหรือของมีคม 33 ข่าว คิดเป็น 25.4% ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 7.7% ช่วงอายุ 46-50 ปี ถูกกระทำมากที่สุด 23.5% อายุ 41-45 ปี 17.4% นอกจากนี้ยังพบกรณีข่าวฆ่ากันในคู่รักแบบแฟน 64 ข่าว คิดเป็น 16.5% สาเหตุเพราะหึงหวง 51.8% ตามง้อไม่สำเร็จ 17.3% โมโหที่ถูกบอกเลิก 12.6% โดยอาวุธที่ใช้ เช่น ปืน 48% มีดหรือของมีคม 28.8% บีบคอหรือแขนรัดคอ 6.8% อายุที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ 21-25 ปี 31.3% อายุ 26-30 ปี 26.2%
“สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่น่ากังวล จากข้อมูลข่าวการทำร้ายกันของคนครอบครัว หรือคู่รักพบว่ามีการใช้อาวุธร่วมด้วย ทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับบาดเจ็บสาหัส ผลกระทบด้านจิตใจค่อนข้างรุนแรง สาเหตุก็มาจากความหึงหวง ระแวงมีคนอื่น ตามง้อไม่คืนดี ฯลฯ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ผ่านๆ มาด้วย และข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันยุติวามรุนแรงฯ เกิดเหตุยิงรัวฆ่ายกครัว 2 ราย แล้วยิงตัวเองตายตาม มีเด็กอายุ 8 ขวบ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งในข่าวพบว่าก่อนเกิดเหตุมีการตั้งวงดื่มเหล้า เหตุเกิดในพื้นที่อำเภอเมือง สมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งข่าวที่ยืนยันเรื่องเหล้าที่มาเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ” นางสาวจรีย์ กล่าว
ด้าน คุณจิตติมา ภาณุเดชะ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอ ต่อกระทรวง พม. ดังนี้ 1.ขอให้กระทรวง มีมาตรการป้องกันเกี่ยวกับความรุนแรงต่อคู่รักวัยรุ่น 2. ขอให้กลไกสภาเด็กและเยาวชน มีมาตรการป้องกันความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น โดยให้สภาเด็กฯ ทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้มีความรู้และเข้าใจเรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อสารเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สร้างการตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงและไม่ยอมรับความรุนแรง และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
- ขอให้ทำงานส่งเสริมและพัฒนากลไกชุมชนอาสามัคร เช่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ์ (อพม.) มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา เข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย มีทักษะในการจับสัญญาณความรุนแรง สามารถรับเรื่อง และให้ความช่วยเหลือ กรณีเกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัวและในคู่รัก 4. ขอให้ประชาสัมพันธ์ รับรู้เกี่ยวกับกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว สร้างความตระหนักรู้ในสังคมต่อเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและคู่รัก และ 5. ขอให้มีแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ในคู่รัก โดยประสานกลไกสหวิชาชีพต่างในพื้นที่ เพื่อดูแลและเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว