ดันเครื่องสำอางไทยผงาดอาเซียน
รัฐหนุนSMEsเรียนรู้ใช้เทคโนฯ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินธุรกิจเครื่องสำอางยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดปี 59 มูลค่าตลาดไทยโต15% มีศักยภาพเป็นเจ้าตลาดอาเซียนในอนาคตได้ ปัจจัยหนุนเพียบทั้ง วัตถุดิบสมุนไพรที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพ การสนับสนุนจากภาครัฐ โรงงานต้นแบบผลิตเครื่องสำอางครบวงจรเพื่อให้เป็นแบบอย่างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ
“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” เป็นคำโบราณที่กล่าวไว้ และในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นไม่ผิดไปจากเดิม เนื่องจากผู้คนต่างให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพอนามัย การเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงานที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากในอดีต จึงทำให้ตลาดเครื่องสำอางของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ในปี 2558 ธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาดในประเทศถึง 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกที่ทำรายได้ให้ประเทศกว่า 9 หมื่นล้าน
หากมองตลาดเครื่องสำอางในระดับอาเซียนในปัจจุบันเองก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ด้วยจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 300 ล้านคน และจากตัวเลขโครงสร้างตลาดของ Yano research institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและสำรวจภาวะธุรกิจของญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นว่าตลาดของไทยเองมีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดอาเซียน คือ กว่าร้อยละ 30 รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย (28%) และฟิลิปปินส์ (20%) จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางของไทยไปอาเซียนจึงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยได้ถึงร้อยละ 9.2 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยไทยส่งออกเครื่องสำอางไปยังตลาดอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 44 ของการส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งหมด และด้วยมูลค่าตลาดอาเซียนในปี 2558 ที่ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ คาดว่าจะมีถึง 6.1 แสนล้านบาท จึงทำให้ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในแง่ขนาดมูลค่าตลาดและมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
นอกจากโอกาสตลาดอาเซียนที่เปิดกว้างแล้ว ธุรกิจเครื่องสำอางของไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบสมุนไพรที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพ ทำให้ไทยชิงความได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากวัตถุดิบสมุนไพรจากธรรมชาติสามารถตอบโจทย์เทรนด์พฤติกรรมใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค การสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ การให้สถาบันวิจัยนาโนเทคจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเครื่องสำอางครบวงจรเพื่อให้เป็นแบบอย่างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับสินค้าของตนเอง การส่งเสริมการจัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำอย่างบูรณาการ และการที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แก้ไข พรบ.เครื่องสำอางบางส่วนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตอยู่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดส่งออกได้มากขึ้น และช่องทางการตลาดที่หลากหลายและผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ในยุคที่รูปแบบการค้าสมัยใหม่กำลังมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้นในตลาดอาเซียน รวมถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการสร้างตลาดได้อีกมาก
จากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ คาดว่าปี 2559 มูลค่าตลาดเครื่องสำอางของไทยจะสามารถขยายตัวได้กว่าร้อยละ 15 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะสำเร็จรวดเร็วหรือไม่ อย่างไรนั้น คงต้องอาศัยภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุน และลดอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ควรพัฒนาสินค้าของตนเองให้ได้ตามมาตรฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องสำอาง อาทิ ASEAN GMP มาตรฐานฮาลาล EU Cosmetic Regulation และ Gulf standard ซึ่งการได้รับมาตรฐานเหล่านี้ จะส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของผู้ประกอบการมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำตลาดทั้งในประเทศและตลาดอาเซียนต่อไป
(ภาพ-http://www.thaicosmeticcluster.com/)