วช. หนุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยสู่ entrepreneur นำร่องผลักดันใช้ประโยชน์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ณ อุทยานวิทย์ฯ มช.

วช. หนุนการบ่มเพาะการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในการเป็น entrepreneur นำร่องผลักดันการใช้ประโยชน์นวัตกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่

วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยมโครงการการพัฒนากลไกการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านการแพทย์ผ่านการสร้างแผนงานด้านเทคโนโลยีและบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. โดยมี รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (SMART LAB) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผศ.ดร.ทินกร ปงธิยา ม.เชียงใหม่ พร้อมคณะนักวิจัย นำเสนอและรายงานความก้าวหน้าโครงการ ณ อาคารอํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การบ่มเพาะนักวิจัยให้มีความพร้อมรอบด้านนับเป็นความสำคัญในการยกระดับสมรรถนะของนักวิจัย โดยเฉพาะในมิติการเป็น entrepreneur โครงการนี้ได้นำร่องการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ สู่การพึ่งพาตนเองด้านเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยในระยะยาว


รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในเป้าหมายการก้าวเข้าสู่การเป็น World Medical Hub ซึ่งมีการคัดเลือกให้นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย เป็นโอกาสนำร่อง สร้างโอกาสลดการนำเข้าทางเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดสรรสวัสดิการสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง

ภายใต้โครงการนี้ วช. ได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกลุ่มวิจัยด้านเครื่องมือแพทย์ ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านเครื่องมือแพทย์ เสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศ โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะทางธุรกิจ เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐาน