Synchrotron Open House ซินโครตรอน กระทรวง อว. เปิดบ้านสร้างโอกาสการเรียนรู้รับวันเด็ก
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “อว For Kids” โดยเปิดบ้านซินโครตรอนรับวันเด็กแห่งชาติ ให้เยาวชนได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนขนาดใหญ่ พร้อมกิจกรรมฐานทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน การส่องกล้องจุลทรรศน์ดูซากสิ่งมีชีวิตชนิดขนาดเล็กและเซลล์พืช กิจกรรม D.I.Y. ประดิษฐ์ของเล่นวิทยาศาสตร์ เช่น ฐานเก็บรุ้งใส่กระป๋อง ฐานประดิษฐ์กล้องสลับลาย รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ระบายสีตามจินตนาการบนกำแพงยักษ์ และประกอบตัวต่อแม่เหล็ก
นครราชสีมา – ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “อว For Kids” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวง อว. โดยสถาบันฯ ได้จัดกิจกรรม เปิดบ้านซินโครตรอนรับวันเด็กแห่งชาติ Synchrotron Open House ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2568 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในรอบปีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าเยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการและเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้
“นอกจากนี้สถาบันฯ ยังจัดกิจกรรมเสริมความรู้ ให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเปิดบ้านในครั้งนี้ ได้แก่ กิจกรรมฐานทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน การส่องกล้องจุลทรรศน์ดูซากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและเซลล์พืชที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น กิจกรรม D.I.Y. ประดิษฐ์ของเล่นวิทยาศาสตร์ เช่น ฐานเก็บรุ้งใส่กระป๋อง ซึ่งเป็นฐานประดิษฐ์อุปกรณ์คัดแยกแสงธรรมชาติให้กลายเป็นแสงรุ้งในกระป๋อง ฐานประดิษฐ์กล้องสลับลาย ซึ่งเป็นฐานประดิษฐ์กล้องที่มีลวดลายสลับไปสลับมาจากหลักการสะท้อนของแสง และมีกิจกรรม Science Show ที่สาธิตการทดลองไฟฟ้าสถิตย์ การทำฟองสบู่ยักษ์จากสารเคมีใกล้ตัว และการแสดงสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยไนโตรเจนเหลว รวมทั้งยังมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ระบายสีสันตามจินตนาการลงผืนผ้าบนกำแพงขนาดใหญ่ และฐานกิจกรรมประกอบตัวต่อแม่เหล็กสำหรับเด็กเล็กได้แสดงความคิดสร้างสรรค์” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว
สำหรับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติขนาดใหญ่ ที่ให้บริการแสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การเกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม การแพทย์และสาธารณสุข วัสดุศาสตร์ พลังงาน โบราณคดี และผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น และสถาบันฯ ยังมีโครงสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ ระดับพลังงาน 3 GeV ภายในบริเวณเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง ต่อไปในอนาคต