กตป.จับมือกสทช. -นิด้า เปิดผลลัพธ์ โครงการติดตาม-ประเมินผลตามนโยบาย กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ปี67
กตป.ร่วมกับ กสทช. และ นิเทศฯ นิด้า จัดการประชุมรายงานผลการดำเนินงาน “โครงการติดตามและประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประจำปี 2567”
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตร ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) และ กตป. ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมที่ปรึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ร่วมจัดการประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินงาน “โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช.ที่สำคัญในด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประจำปี 2567” ณ ห้องลาเวนเดอร์ 1-3 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั้น กรุงเทพมหานคร
สำหรับการติดตามและประเมินผลตามนโยบายดังกล่าว ทางคณะทำงานได้ทำการเก็บรวบรวมและสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 17 ตัวอย่าง และการจัดสนทนากลุ่ม 5 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 15 จังหวัด และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามจำนวน 2,500 ชุด รวมทั้งดำเนินการสุ่มตรวจพื้นที่ในหมู่บ้านพื้นที่ทำงไกล (Zone C) และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ที่ กสทช. ดำเนินการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567
ผลการประเมิน พบว่า โครงการฯ ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้น โดยผลการวิจัยเชิงปริมาณ ชี้ให้เห็นถึงการรับรู้สิทธิและเสรีภาพในการใช้บริการโทรคมนาคม USO Net ของประชาชน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ โดยได้ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของ กสทช. ในด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงโครงการ USO Net ตามหลักธรรมาภิบาลการกำกับดูแลที่ดี
นอกจากนี้ ยังได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกถึงความเป็นมาของโครงการ การบริหารจัดการ ปัญหาและอุปสรรค และศักยภาพของโครงการ USO Net ในการพัฒนาเป็นศูนย์บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ รวมถึงการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงโครงการ ช่องทางการรับรู้ และความต้องการของชุมชนในการใช้บริการ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์บริการดิจิทัลแบบครบวงจร
ผลการวิจัย ยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการ USO Net ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การขยายจุดให้บริการให้ครอบคลุม การจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน และการส่งเสริมให้ศูนย์ USO Net เป็นศูนย์ช่วยเหลือคนพิการในการเข้าถึงบริการดิจิทัลแต่ยังคงมีปัญหาและข้อจำกัด เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ครอบคลุม ความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ขาดแคลนอุปกรณ์ และความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยี
ทั้งนี้ กสทช. ยืนยันจะนำข้อเสนอแนะไปพัฒนาโครงการ USO Net ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ และลดความเหลือมล้ำทางดิจิทัลในประเทศ