เปิดเวที NRCT Talk ตอบปัญหา “ฝุ่นมาจากไหน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำตอบ”
เปิดเวที NRCT Talk ตอบปัญหา “ฝุ่นมาจากไหน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำตอบ”
วันที่ 22 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีแถลงข่าว NRCT Talk ในหัวข้อ “ฝุ่นมาจากไหน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำตอบ” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานกรรมการกำกับและติดตาม การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ และศูนย์กลางด้านความรู้ด้านมลพิษทางอากาศและภูมิอากาศ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. และคุณจรูญ เลาหเลิศชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. ได้ตระหนักถึงการนำงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี มาเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยอย่างยิ่งสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูง (สีแดง) ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กิจกรรม NRCT TALK ในครั้งนี้จึงต้องการนำเสนอข้อมูลแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 จากงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยร่วมมือกับ “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC)” ภายใต้แผนงานการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางกําลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำตอบ และช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุฝุ่น PM2.5 และสามารถเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและป้องกันตนเอง
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษางานวิจัยและนวัตกรรม มลพิษทางอากาศเกิดจากหลายสาเหตุ และมีปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 ดังนี้ (1) แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 เช่น การเผาในที่โล่ง การจราจร (2) สภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อการแพร่กระจายหรือการเคลื่อนที่ของฝุ่น PM2.5 เช่น ลม ความกดอากาศ และ (3) ลักษณะภูมิประเทศ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ซึ่งจากสาเหตุและปัจจัยดังกล่าวจะเห็นตัวอย่างพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงในช่วงเวลากลางคืนถึงเช้า อันเนื่องด้วยสภาพอากาศปิดจากการหักกลับของอุณหภูมิ (inversion temperature) ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งและแนวราบได้ตามปกติจึงทำให้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น (อัตราส่วนน้ำหนักต่อปริมาตรอากาศ) ประกอบกับปริมาณการจราจรที่หนาแน่นในช่วงเช้าและฝุ่นจากการเผาในที่โล่งที่ถูกพัดพามาโดยลมจากทิศตะวันออกของประเทศไทย และช่วงหลัง 10.00 น. เป็นต้นไปจะเห็นว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จะลดลงได้ โดยที่ปริมาณฝุ่นไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเพดานการลอยตัวของอากาศสูงขึ้น (ปริมาตรเพิ่มขึ้น) ซึ่งจะเห็นได้ว่าฝุ่นละออง PM2.5 มีอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น แต่เราสามารถทราบสภาพอากาศล่วงหน้าได้จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกแบบมาตรการและนโยบายเพื่อควบคุมที่แหล่งกำเนิดฝุ่นได้ โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
คุณจรูญ เลาหเลิศชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเสริมถึงปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาที่ส่งผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 จาก “ความเสถียรของชั้นบรรยากาศ” และ “ความแตกต่างของอุณหภูมิ” ที่ความสูงระดับต่าง ๆ ของชั้นบรรยากาศ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของฝุ่นเข้าไปแทรกหรืออยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อขอบเขตของบรรยากาศที่ไม่เสถียร (unstable boundary layer) ซึ่งมีชั้น mixed layer สูงมาก ซึ่งจะเกิดในหน้าร้อนในวันที่อากาศแจ่มใส ไม่มีเมฆ การแผ่คลื่นความร้อนซึ่งเป็นความยาวคลื่นช่วงยาวจะทำให้บรรยากาศที่ใกล้ผิวดินร้อน อากาศที่ร้อนจะลอยตัวขึ้นด้านบนแบบหมุนวน (turbulence) พาฝุ่นหมุนวนขึ้นไปด้านบนได้สูง ในทางตรงกันข้ามการกระจายของฝุ่นเข้าไปแทรกในบรรยากาศจะทำได้ไม่ดีในฤดูหนาวที่มีเมฆมาก เกิดการผกผันของอุณหภูมิ (inversion temperature) ทำให้ขอบเขตของชั้นบรรยากาศเป็นแบบเสถียร (stable boundary layer) เนื่องจากบรรยากาศในระดับที่ใกล้พื้นผิวดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าบรรยากาศที่อยู่ด้านบน อากาศเย็นจะจมลงแทนที่จะลอยตัวขึ้นด้านบน จะไม่เกิดการเคลื่อนที่แบบหมุนวน (turbulence) ชั้น mixed layer จะลดลง ทำให้เมื่ออากาศเสถียร (นิ่ง) จะเกิดการกระจายตัวของฝุ่นได้น้อยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นว่าปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาดังกล่าว จะเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรธรรมชาติตามรอบปี จึงเป็นที่มาของค่าฝุ่น PM2.5 ที่มักสูงขึ้นในช่วงต้นปี และเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาได้
ทั้งนี้ การจัดเวทีแถลงข่าว NRCT Talk ในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจถึงสาเหตุและผลกระทบของปัญหาฝุ่นละออง ผ่านมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม