TMB-บสย.ดึงTMBQuickTrade
ช่วยSMEsธุรกิจนำเข้า-ส่งออก
ทีเอ็มบี จับมือ บสย. เพิ่มเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เสริมสภาพคล่องด้วย ” ทีเอ็มบี ควิก เทรด” (TMB Quick Trade) ตอบโจทย์ด้วยวงเงินสินเชื่อธุรกรรมต่างประเทศวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท พร้อมทั้งวงเงินป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย. โดยไม่ต้องใช้หลักประกันอื่น พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก คาดสิ้นปี 58 ช่วยเอสเอ็มอีได้กว่า 200 ราย
นางพรรณแข นันทวิสัย หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกรรมระหว่างประเทศ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี โดยขัอมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า ในปี 2558 สถานการณ์ด้านการส่งออกของไทยติดลบถึงร้อยละ 5.5 และด้านนำเข้าหดตัวกว่าร้อยละ 11 ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี2559การส่งออกจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวดีขึ้น และจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศCLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ในขณะที่การนำเข้าก็จะขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 6.7 จากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน นับเป็นสัญญาณบวกให้กลุ่มผู้ประกอบการด้านนำเข้า-ส่งออก เตรียมความพร้อมด้านเงินทุน เพื่อคว้าโอกาสที่จะขยายธุรกิจในปี 2559
ในส่วนของทีเอ็มบี มีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ทีเอ็มบี ควิก เทรด (TMB Quick Trade) ที่ให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีธุรกรรมต่างประเทศ โดยให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย และไม่ต้องใช้หลักประกันอื่น โดย บสย. จะเข้ามาช่วยค้ำประกันให้เต็มวงเงิน พร้อมมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมค้ำของบสย. ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ยังให้วงเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Forward) ช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการเสริมความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการอีกต่อหนึ่ง คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ทีเอ็มบีจะสามารถช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีได้กว่า 200 ราย รวมวงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยในปี 2559 ธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะขยายการสนับสนุนเอสเอ็มอีในวงกว้างมากขึ้น เพื่อช่วยขยายธุรกิจนำเข้า-ส่งออกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้ฟื้นตัวในช่วงปีหน้า
“โครงการ TMB Quick Trade เริ่มดำเนินการช่วงไตรมาสที่ 1 มีผู้ประกอบการสนใจใช้จำนวนมากช่วยให้ธุรกิจคล่องตัวเดินได้ดี มีการทำธุรกรรมเติบโต 50% โดยธุรกิจที่เข้ามาใช้บริการโครงการนี้มากได้แก่ ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมโลหะหนักและพลาสติก ในส่วนของธนาคารมีรายได้จากธุรกิจสนับสนุนเอสเอ็มอีส่งออก-นำเข้าในปี 2558 โตกว่าปี 2557 เป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่่งในปัจจุบันทีเอ็มบีมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการดูแลประมาณ 2,000 ราย ”
นางพรรณแขกล่าวด้วยว่า นอกจากการสนับสนุนด้านการวงเงินสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการด้านนำเข้า-ส่งออกแล้ว ทีเอ็มบี ยังส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อเสริมศักยภาพให้กับลูกค้า ด้วยการจัดงานสัมมนา “เตรียมเอกสารส่งออก ยิ่งคล่อง ยิ่งได้เงินเร็ว” และ “ลดความเสี่ยง เลี่ยงขาดทุน ธุรกรรมนำเข้าและส่งออก” ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกรรมระหว่างประเทศจากทีเอ็มบี เป็นผู้ให้ข้อมูล ความรู้ เจาะลึกเทคนิค และเคล็ดลับในทุกแง่มุมทั้งนำเข้า ส่งออก การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีลูกค้าร่วมอบรมและแบ่งปันประสบการณ์รวมกว่า 900 คน และจะจัดอบรมสัมมนาลูกค้าอย่างต่อเนื่องในปีหน้า
ด้านนายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า สินเชื่อ ทีเอ็มบี ควิก เทรด เป็นความร่วมมือกับธนาคารทหารไทย และ บสย. โดยค้ำประกันผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 ปรับปรุงใหม่ ตามมติครม. 8 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากทั้งสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดย ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 โครงการ PGS5 ปรับปรุงใหม่ฯ มีการอนุมัติวงเงินค้ำประกันรวมกว่า 20,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 5,000 ราย
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มนำเข้า-ส่งออก ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนหลักประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP เช่นเดียวกับธุรกิจนำเข้า เนื่องจากไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร และพลังงาน เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP ในระยะยาว
“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการ TMB Quick Trade สามารถขอสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 40 ล้านบาท นอกจากได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนจากบสย. ยังฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ซึ่งโดยปกติบสย.คิดปีที่หนึ่ง 1.75% ปีที่สอง 1.5% ปีที่สาม 1% ปีที่สี่ 1.5% ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์อย่างมาก โดยโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 ปรับปรุงใหม่จะหมดในกลางปีหน้า”
อย่างไรก็ตามนนายวิเชษฐกล่าวว่า บสย.ยังคงเน้นการค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยทุกประเภท โดยเฉพาะที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับภาครัฐมากขึ้น ซึ่งรวมด้านส่งออกและนำเข้าที่จะต้องมาจากโครงการภาครัฐด้วย
ส่วนปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) นั้นไม่กังวลแม้เพิ่มขึ้น โดย ณ กลางปี 2558 เพิ่มขึ้นมาประมาณ 8% แต่มีเพดานหนี้เสียไม่เกิน 22.5% ของยอดการค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมด