นักวิจัยสกว.คว้า2เหรียญทอง
งานนวัตกรรมนานาชาติบรัสเซล
นักวิจัย สกว.สร้างชื่อหลังคว้าสองเหรียญทองจากงานนวัตกรรมนานาชาติที่กรุงบรัสเซล จากผลงานเม็ดบีดนาโนนำส่งเรตินอยด์ต้านริ้วรอย สารกลุ่มวิตามินเอที่ควบคุมการปลดปล่อยสารลงสู่ผิวหนังได้ต่อเนื่อง ยาวนาน และเจลโลสจากแป้งเม็ดมะขามพัฒนาเป็นแผ่นฟิล์มชีวภาพปิดแผลและใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มเม็ดมะขาม ส่งออกญี่ปุ่นราคาเพียง 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ทดสอบแผลผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยแห้งสนิทเร็ว
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นักวิจัย สกว.สามารถสร้างผลงานคว้าสองเหรียญทองในงาน “Brussels Innova” ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นงานประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นมาเป็นประจำทุกปี ในปีนี้เป็นปีที่ 64 โดยมีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 300 ผลงานจาก 20 ประเทศ
ในส่วนของประเทศไทยส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 24 ผลงาน เป็นงานวิจัยของ สกว. 2 ผลงาน ได้แก่ “การพัฒนาเม็ดบีดบรรจุอนุภาคนาโน-เรตินอยด์ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง” ผลงานวิจัยของ รศ. ดร.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบนำส่งเรตินอยด์ระดับนาโนพาติเคิล ซึ่งเป็นสารในกลุ่มวิตามินเอที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยลงสู่ผิวหนังได้อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และปริมาณสูงพอที่จะส่งผลได้ แต่ไม่สูงจนเกิดการระคายเคือง
ทั้งนี้ได้มีการทดสอบกับหนูทดลองและในอาสาสมัคร จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 12 สัปดาห์ สามารถลดริ้วรอยได้ดีกว่าวิตามินเอปกติอย่างเห็นได้ชัดเจน จากผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ จาก the French Inventors Federation ประเทศฝรั่งเศส
อีกหนึ่งผลงานคือ “เจลโลสจากแป้งเม็ดมะขาม” ของ รศ. ดร.วุฒิชัย นาครักษา คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้นำเนื้อในของเมล็ดมะขามมาผลิตเป็นแป้งเมล็ดมะขามเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเมล็ดมะขามมีโพลีแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเจลเมื่อละลายอยู่ในน้ำ โดยเรียกสารตัวนี้ว่า เจลโลส แล้วนำเจลโลสมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นฟิล์มชีวภาพปิดบาดแผล ซึ่งผ่านการทดสอบเบื้องต้นกับผู้ป่วยเบาหวานและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แผลแห้งสนิทเร็วขึ้น ขณะนี้กำลังต่อยอดกับเอกชนในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีฟิล์มเคลือบผิวผลไม้เพื่อการส่งออกซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองตลาดและใช้งาน รวมถึงเยลลี่มะขามซึ่งใช้เจลโลสเป็นสารที่ทำให้เกิดเจล เป็นต้น
ผลงานวิจัยนี้ได้พัฒนาร่วมกับบริษัท ปิ่นเพชร จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเอสเอ็มอีมะขามหวานเพชรบูรณ์อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเดิมทางบริษัทส่งเมล็ดมะขามไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อสกัดเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสี ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาท ขณะนี้มีเอกชนสนใจจะนำไปต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมเช่นกัน ผลงานนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจาก HALLER PRO INVENTIO FOUNDATION ประเทศโปแลนด์ ในโอกาสนี้ รศ. ดร.วุฒิชัยยังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ระดับอัศวิน หรือ Chevalier (หมายเลข 15011) จากประเทศเบลเยียม เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัยด้วย
รศ. ดร.วุฒิชัยกล่าวว่า งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปรรูป การเก็บรักษาแป้งเมล็ดมะขาม และสมบัติของเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขามต่อพฤติกรรมการเกิดเจล เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการใช้เพกตินในผลิตภัณฑ์อาหาร เจลโลสที่ผลิตจากแป้งมะขามมีคุณสมบัติสามารถทนต่อความร้อน กรด และแรงเฉือนได้ดี ทำให้อุตสาหกรรมอาหารนิยมนำเจลโลสมาใช้เป็นสารให้ความข้นหนืด สารให้ความคงตัว สารทดแทนไขมัน และสตาร์ชดัดแปรในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ไอศกรีม น้ำสลัด มายองเนส บะหมี่ สตูว์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว และมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเครื่องสำอาง ปรับปรุงการแพร่เข้าสู่เนื้อเยื่อ จากผลคุณสมบัติและการนำไปประยุกต์ใช้ของเจลโลสดังกล่าว ทำให้เกิดงานวิจัยต่อยอดในโครงการในเฟสแรกมาศึกษาการนำเจลโลสจากแป้งมะขามไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุด