บสย.โชว์ผลดำเนินงาน 58
ค้ำฯสินเชื่อSMEsแสนล้านบ.
บสย.เผยผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อปี 2558 ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย ทั้งด้านยอดค้ำประกัน และจำนวนราย ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชี้ผลสำเร็จจากมาตรการรัฐหนุนสินเชื่อเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs คาดสิ้นปีมียอดค้ำประกันสินเชื่อแตะ 100,000 ล้านบาท และ อนุมัติการค้ำประกัน กว่า 70,000 ราย มุ่งภารกิจปี ‘59 ขยายความช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน เป้ายอดค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท
นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ บสย. ในปีนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ทั้งด้านยอดค้ำประกันและจำนวนราย โดย มียอดค้ำประกันสินเชื่อ (ม.ค. – 27 พ.ย. 58) รวม 86,000 ล้านบาท ยอดอนุมัติค้ำประกัน 65,000 ราย ประมาณการว่า ถึงสิ้นปีนี้จะมียอดค้ำประกันสินเชื่อแตะ 100,000 ล้านบาท และ อนุมัติการค้ำประกัน กว่า 70,000 ราย ผ่านโครงการสำคัญ ๆ คือ
• โครงการค้ำประกัน PGS5 ปรับปรุงใหม่ ที่เริ่มเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการต่อเนื่อง 4 ปี สูงสุด 4% วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท จะสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ในช่วงเวลาประมาณ 2 เดือน หรือณ วันที่ 27 พ.ย. 58 มียอดค้ำประกันไปแล้วกว่า 27,000 ล้านบาท และอนุมัติการค้ำประกัน จำนวน 7,000 ราย
• โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย ( Micro Entrepreneurs) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการSMEs รายย่อย เข้าถึงแหล่งทุนในระบบในแง่จำนวนรายมากที่สุด คือ 41,000 ราย โดยอนุมัติวงเงินค้ำประกันแล้ว 4,200 ล้านบาท โครงการนี้จะสิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2558 คาดว่า วงเงินจะหมดภายในสิ้นปี 2558
• โครงการค้ำประกัน TCG Renew ซึ่งเป็นการค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องให้กับลูกค้าเดิมของ บสย. โดยมีวงเงินค้ำในปีนี้ 7,300 ล้านบาท อนุมัติการค้ำประกัน จำนวน 2,100 ราย
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เช่น กิจกรรมจัดอบรมให้ความรู้แก่ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนร่วมกับ “ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ” (UBI) ของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ กิจกรรมคลินิกค้ำประกันสินเชื่อ มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน ระหว่างเดือน มกราคม – ตุลาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 125 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 23,115 ราย และยังมีการเพิ่มบริการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ “คลินิกค้ำประกันสินเชื่อออนไลน์” แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านเว็บไซต์ www.tcg.or.th
นายญาณศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแผนงานและทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 บสย. ได้วาง 4 แนวทางหลักในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายยอดค้ำประกันสินเชื่อ ประมาณ 100,000 ล้านบาท คือ
1. ช่วยผู้ประกอบการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพและกลุ่มอาหารแห่งอนาคต หรือการแปรรูปอาหาร กลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิตอล
2. จะให้การสนับสนุนต่อเนื่องในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Entrepreneurs) ซึ่งโครงการจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 โดยจะเสนอคลังพิจารณาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs ระยะ 2 ต่อจากโครงการแรกที่สามารถช่วยผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก พร้อมจะเพิ่มวงเงินอีกเป็นราว 13,000 ล้านบาท
3. ขยายช่องทางการค้ำประกันสินเชื่อไปยังผู้ให้บริการสินเชื่อในกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs
“กำลังเสนอให้รัฐบาลแก้พรบ.บสย.เพื่อให้ค้ำประกันสินเชื่อของผู้ให้บริการกลุ่ม Non-bank และค้ำประกันสิ่งหรือธุรกรรมที่คล้ายสินเชื่อ เช่น กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อหรือลิสซิ่งและแฟคตอริ่ง เสร็จแล้วยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกประมาณ 6 เดือน”
4. มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างต่อเนื่อง
“ช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการSMEs ในด้านการบริหารจัดกาาร เพื่อให้ทำธุรกจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ” นายญาณศักดิ์กล่าว