“Stratasys” รุกตลาดพิมพ์3มิติ
ชี้ไทยโตเร็วแต่ใช้พิมพ์3มิติน้อย
เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ถูกมองว่า เทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างหนึ่ง มีแนวโน้มว่า จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์โลกเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้นำเทคโนโลยีทางด้านนี้ในระดับโลกมีหลายแห่ง อาทิ 3D Systems ,Hewlett-Packard และเมื่อเร็ว ๆนี้มีผู้นำทางด้านนี้อีกแห่งเพิ่งมาเปิดตลาดในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท “Stratasys” สัญชาติอเมริกัน
ทั้งนี้ “Stratasys Asia Pacific” (สตรัสเทซี เอเชีย แปซิฟิค)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท NASDAQ: SSYS (สตรัสเทซี) ผู้นำด้านการพิมพ์ 3 มิติ ที่มีสำนักงานใหญ่ที่รัฐมินนิโซต้า สหรัฐอเมริกา และ เมืองเรโฮวอท ประเทศอิสราเอลบุกตลาดเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในไทย โดยเชื่อมั่นเทคโนโลยี Stratasys มีศักยภาพ ช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงขั้นตอนการผลิต และใช้ได้ครอบคลุมกว้างหลากอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์, การแพทย์ และเครื่องจักร
นายอิโด เอลอน ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Stratasys Asia Pacific Ltd. แห่งภูมิภาคแปซิฟิคและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะนำบริษัทว่า “ Stratasys ตั้งขึ้นในปี 1988 กว่า 25 ปีที่ผ่านมา บริษัทเป็นผู้นำแถวหน้าของนวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติ และการผลิตสารเติมแต่ง ซึ่งพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาและความตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุด เพื่อให้กระบวนการทำงานทุกขั้นตอนผ่านไปอย่างราบรื่นไม่มีจุดสะดุด ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพของงานให้ออกมามีคุณภาพและประหยัดเวลาในการพัฒนาปรับปรุง นอกจากนี้บริษัทยังบริการแก้ไขปัญหา รับปรึกษาด้านเทคนิคและการฝึกอบรม”
“การพิมพ์ 3 มิติ” หรือ “การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ” (Additive Manufacturing) คือ กระบวนการพิมพ์แบบจำลอง 3 มิติที่จับต้องได้จากซอฟต์แวร์การออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer-aided design หรือ CAD) เครื่องพิมพ์ 3 มิติจะพิมพ์แบบจำลองจากไฟล์ CAD โดยการวางวัสดุลงไปทีละชั้นเพื่อสร้างเป็นแบบจำลองขึ้นมา
เครื่องพิมพ์ที่ได้รับความนิยมทั่วไป ได้แก่ แบบ fused deposition modeling (FDM) หรือการพิมพ์แบบใช้หัวฉีด การทำงานมีกลไกสำหรับดึงเส้นพลาสติกมาทำความร้อนที่หัวฉีด และฉีดลงไปที่ฐานทีละชั้น ก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมากการพิมพ์แบบ FDM จะถูกใช้สำหรับงานพิมพ์ตัวต้นแบบ (rapid prototype) เพราะตัวงานที่ออกมาจะไม่แข็งแรงนัก และมีพื้นผิวเป็นลายไม้ จำเป็นต้องขัดเก็บงานเสียก่อน หากจะนำไปใช้งานจริง แต่เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด เนื่องจากใช้กับวัสดุได้หลายประเภท รวมถึงต้นทุนที่ถูกกว่าการพิมพ์แบบอื่นทั้งในแง่ของวัสดุ และตัวเครื่องพิมพ์
ส่วนเครื่องแบบ Polyjet คือ ใช้วัสดุการพิมพ์เป็นของเหลวแล้วค่อยๆ ฉีดพ้นสร้างขึ้นมาเป็นแบบ จุดเด่นของเครื่องแบบ Polyjet คือ ได้งานที่ละเอียดกว่าแบบฉีดเป็นเส้นทั่วไปที่ระดับ 14 ไมครอน แต่จุดด้อยคือ วัสดุจะไม่ทนทานเท่าแบบฉีด
Stratasys ได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาโชว์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ FDM-powered Fortus 250mc และ the PolyJet-based Objet30 Pro โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆในไทยผ่านพันธมิตร 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท Marubeni Software & Technology (Thailand) Co.,Ltd. , Altech Asia Pacific Co.,Ltd. และ AppliCAD Co.,Ltd.
นายเอลอนเปิดเผยว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา อุตสหกรรมการผลิต สถาปัตยกรรม ยานยนต์ อากาศยานหรือแม้แต่ด้านการแพทย์ ก็ได้มีการนำไปใช้แล้ว ลูกค้าของบริษัทจึงได้แก่ ธุรกิจในกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้
ตัวอย่างการนำไปใช้ด้านการแพทย์ เช่น ดร.เรดมอนด์ เบิร์ค (Redmond Burke) ผู้อำนวยการฝ่ายกุมารศัลยศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด แห่งโรงพยาบาลเด็กในไมอามี่ ใช้ช่วยเหลือหนูน้อยที่มีความผิดปรกติของหัวใจ โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ วางแผนการรักษาด้วยการพิมพ์ 3 มิติ และการตรวจสอบรูปแบบของหัวใจก่อนการผ่าตัด นอกจากนี้การพิมพ์ 3 มิติยังใช้งานด้านทันตกรรม ออกแบบโครงสร้างฟันได้ด้วย
ส่วนในด้านยานยนต์ การพิมพ์ 3 มิติช่วยให้บริษัท ฮอนด้า จำกัด ประหยัดต้นทุนและเวลาในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการพัฒนายานยนต์ ช่วยงานได้ตั้งแต่เริ่มทำต้นแบบ การทดสอบไปจนถึงการผลิตเพื่อนำออกสู่ตลาด จนปัจจุบันมีอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของฮอนด้ามากกว่า 300 ได้ถูกออกแบบและพัฒนาประสิทธิภาพผ่านการพิมพ์ 3 มิติ
นายเอลอน เชื่อว่า ท่ามกลางการแข่งขันจากทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างเร็วรวดและมีศักยภาพสูง แต่ยังมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติน้อย เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย Stratasys จึงมีความสนใจมาทำธุรกิจในไทย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 20 รุ่นพร้อมนำเสนอ
แต่จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ยอดขายจะได้เท่าไหร่ นายเอลอน ยังไม่กล้าประเมิน แย้มแต่เพียงว่า ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน แต่ที่แน่ ๆ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 นี้ บริษัทมีรายได้จากทั่วโลกที่ 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตถึง 16%