“CMMU” แนะสตาร์ทอัพ
FinTech อัพดีกรีทำธุรกิจปี59
กระแสธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) หรือธุรกิจเกิดใหม่ในกลุ่มดิจิทัลกำลังมาแรงในปัจจุบัน ช่วยผลักดันคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะต้องหาจุดเด่นของสินค้า หาสิ่งอำนวยความสะดวกสบายสำหรับผู้บริโภค เพื่อโอกาสรอดในยุคที่มีการแข่งขันสูง สิ่งหนึ่งที่มาช่วยได้ คือ การจัดการระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ ให้ซื้อง่ายขายคล่องในไม่กี่วินาทีและช่วยลดต้นทุน นี่จึงเป็นที่มาของ “เทคโนโลยีฟินเทค” ( Financial Technology-FinTech)
ทั้งนี้ อาจารย์กิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “ฟินเทค” คือ การประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่การทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินทำให้เกิดเป็นรูปแบบการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่เอื้อประโยชน์กันในลักษณะวิน-วิน(Win-win) ทั้งในด้านอำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกรรมทางการเงินการเพิ่มกิจกรรมทางการเงิน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
เทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะบริการทางการเงินรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของนักธุรกิจในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลกเมื่อปี 2008 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประกอบกับในช่วงนั้นการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเครดิตเป็นที่ยอมรับมากขึ้นทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งการทำธุรกิจแนวใหม่หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ซึ่งการทำธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นฟินเทคถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ไม่สามารถมองข้ามได้ จึงทำให้ฟินเทคกลายเป็นนวัตกรรมมาแรงที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงในประเทศไทยเองก็มีกระแสตอบรับจากทางสถาบันการเงิน ผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และนักธุรกิจรุ่นใหม่เป็นอย่างดี
ทั้งนี้สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงจากเทคโนโลยีฟินเทคเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
1. กลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการ – ฟินเทคเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ประกอบการรุ่นใหม่หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ ให้สามารถดำเนินกิจการได้ในสถานการณ์การแข่งขันสูงในการทำการตลาดในปัจจุบัน โดยฟินเทคถือเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถเพิ่มยอดการจำหน่ายสินค้าและบริการได้ด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน อีกทั้งการใช้ฟินเทคยังเป็นการลดต้นทุนได้อย่างดีทีเดียว
ตัวอย่างธุรกิจที่ฟินเทคเข้าไปเป็นส่วนสำคัญอาทิ สต็อคเรดาร์ (StockRadars) แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์และให้คำปรึกษาในเรื่องการเล่นหุ้น โดยฟินเทคเข้ามาช่วยในการชำระเงินค่าสมัครสมาชิกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งในยุคปัจจุบัน หากธุรกิจรายใหญ่ในตลาดไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ธุรกิจรุ่นใหม่อาจผันตัวกลายเป็นคู่แข่งในอนาคตกันใกล้ก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการและให้คำปรึกษาเฉพาะด้านผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ที่ควรให้ความสำคัญกับฟินเทคในฐานะเครื่องมือการตลาดที่ขาดไม่ได้
2. กลุ่มผู้บริโภค – กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีฟินเทคมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นกลุ่มผู้บริโภคหรือลูกค้า(Consumer) เนื่องจากเทคโนโลยีนี้คิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะ ให้สอดคล้องกับด้านพฤติกรรมของการบริโภค อาทิ การเลือกชมสินค้าและบริการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และทำการชำระค่าบริการได้อย่างสะดวกสบายผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในเวลาเพียงไม่กี่วินาที หรือแม้กระทั่งสามารถเลือกลงทุนให้กับผู้ระดมทุนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ธุรกิจใดหรือผลิตภัณฑ์ใดเข้าถึงผู้บริโภคได้ก่อน ธุรกิจนั้นก็จะมีสิทธิ์เป็นผู้ชนะในสมรภูมิการตลาด นอกจากนี้ในระยะยาวยังเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตอีกด้วย ซึ่งจากสถิติ ในปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์
3. กลุ่มสถาบันทางการเงิน และนักลงทุนสถาบัน – สถาบันทางการเงินได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีฟินเทคผ่านทางการเติบโตของกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการ โดยเป็นเสมือนตัวกลางยื่นมือเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยเมื่อผู้ประกอบการต้องการนำระบบฟินเทคมาใช้ สามารถติดต่อสถาบันทางการเงินเพื่อตกลงข้อเสนอร่วมกันในการทำธุรกรรมทางการเงิน การธนาคารและการลงทุน เพื่อหาบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับกิจการนั้น ๆ มากที่สุด ซึ่งทางสถาบันทางการเงินเองนั้นจะมีอำนาจในการต่อรองทางด้านผลประโยชน์ อีกทั้งฟินเทคยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับลูกค้าของธนาคารอีกด้วย
ตัวอย่าง ฟินเทคในธุรกิจ“สตาร์ทอัพ” ในปัจจุบันนี้ จำแนกได้ 7 ลักษณะ ประกอบด้วย
(1) ฟินเทคในธุรกิจสตาร์ทอัพที่นำเสนอแพลทฟอร์มในการประเมินและวิเคราะห์สินเชื่อ เช่น Lendingclub, Kreditech และ Prospers เป็นต้น
(2) ฟินเทคในธุรกิจสตาร์ทอัพที่นำเสนอซอฟท์แวร์เพื่ออำนวยความสะดวกบริการรายงานการเงินและการจ่ายชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Xero, Klarnar หรือแม้แต่สตาร์ทอัพไทยเช่น โฟลว์แอคเคาท์ (FlowAccount) เป็นต้น
(3) ฟินเทคในธุรกิจสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านเทคโนโลยีเพื่อช่วยบริหารสินทรัพย์และการลงทุนส่วนบุคคล เช่น Wealthfront, Future Advisor, Stockspot หรือกรณีสตาร์ทอัพไทย เช่น สต็อคเรดาร์ (StockRadars) เป็นต้น
(4) ฟินเทคในธุรกิจสตาร์ทอัพที่นำเสนอแพลทฟอร์มเพื่อช่วยการโอนเงินระหว่างประเทศ เช่น Dwolla
(5) สตาร์ทอัพที่มุ่งนำเสนอซอฟท์แวร์ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการสกุลเงินดิจิตอล เช่น BitPay และ Coinbase เป็นต้น
(6) ฟินเทคในธุรกิจสตาร์ทอัพที่นำเสนอซอฟท์แวร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สร้างตัวแบบทางการเงิน ระบบความปลอดภัยทางการเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานสู่สถาบันการเงิน กองทุน และนักลงทุนสถาบัน เช่นSecurekey เป็นต้น
(7) ฟินเทคในธุรกิจการนำเสนอลักษณะแพลทฟอร์มการระดมทุนโดยการเสนอหุ้นตอบแทนแก่ผู้ลงทุน (Equity Crowd-funding) เช่นKickstarter เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีฟินเทคเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจสต็อคเรดาร์(StockRadars)ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเล่นหุ้นผ่านแอพพลิเคชั่น ธุรกิจโฟลว์แอคเคาท์(FlowAccount)ที่ให้บริการระบบบัญชีออนไลน์ ตลอดจนธุรกิจช็อคโก้คาร์ด(ChocoCard) หรือธุรกิจบัตรสะสมแต้มจากร้านอาหารในเครือเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการแลกรางวัลและส่วนลดในครั้งต่อๆไป ธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญานที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของเทคโนโลยีฟินเทคในวงการธุรกิจประเทศไทย
ฟินเทคถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีในฐานะหน้าต่างแห่งโอกาสในการเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นและเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ไม่เพียงเท่านั้น ฟินเทค ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการบริหารจัดการอาทิ ลดการฉ้อโกงหรือรั่วไหลทางการเงิน ช่วยการจัดการด้านการออมเงิน ส่งเสริมการวางแผนทางการเงิน ฯลฯ
โดยนอกจากธุรกิจสตาร์ทอัพแล้วฟินเทคยังสามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจทั่วไปและใช้ได้กับธุรกิจสินค้าหรือบริการได้ทุกประเภท โดยตัวอย่างธุรกิจทั่วไปที่เหมาะสมกับการใช้ฟินเทค ได้แก่ กลุ่มร้านอาหาร การท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้จากข้อมูล 3 ปี ย้อนหลัง มูลค่ามวลรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีฟินเทคเกี่ยวข้อง (FinTech Startup) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2556 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท เป็น 12 พันล้านบาทในปี 2557 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 4 เท่าตัวและมีอัตราการทะยานสูงขึ้นอีกเรื่อยๆในปีนี้และในอนาคต
ปัจจุบันมีหลายสถาบันการศึกษาที่บรรจุหัวข้อนี้ลงไปในรายวิชาการเรียนการสอน รวมถึง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้บรรจุเป็นหนึ่งในวิชาบังคับของนักศึกษาปริญญาโท สาขาผู้ประกอบการและนวัตกรรม โดยรายวิชาดังกล่าวเป็นวิชาที่โดดเด่นและมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้สนใจในการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเนื้อหาจะมีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อการเรียนการสอนทุกปีการศึกษา เพื่อให้เนื้อหาเข้ากับกระแสนวัตกรรมใหม่ล่าสุดอยู่เสมอ
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายวิชาและหลักสูตรข้างต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th