เด็กไทยสร้างชื่ออีกครั้ง เมื่อนายปฎิภาน สำราญ จากโรงเรียนเขาฉกรรจ์วิทยาคม จังหวัดสระแก้ว หนึ่งในตัวแทนแชมป์จรวดขวดน้ำประเทศไทย ครั้งที่ 13 ประเภทแม่นยำ โชว์ฝีมือคว้าที่ 1 จากการแข่งขันจรวดขวดน้ำ ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก “Water rocket event of APRSAF-22” เฉือนเยาวชน 58 คน จาก 13 ประเทศ ที่เข้าร่วมแข่งขันไปอย่างขาดลอย เมื่อ 28 – 29 พ.ย. 58 ณ บาหลี อินโดนีเซีย
นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย อพวช. และบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ในการจัดการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศครั้งที่ 13 รอบชิงชนะเลิศ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา จนได้ผู้ชนะระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเขาฉกรรจ์วิทยาคม จังหวัดสระแก้ว เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำ ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Water rocket event of APRSAF-22 ระหว่างวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2558 ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีเยาวชน 58 คน จาก 13 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขันนั้น
ผลปรากฏว่าจากการแข่งขันครั้งนี้ ตัวแทนทีมไทย คือ นายปฎิภาน สำราญ จากโรงเรียนเขาฉกรรจ์วิทยาคม สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองด้วยสถิติใกล้เป้าหมายที่สุด ในระยะ 2.44 เมตร ขณะที่อีกคนในทีม คือ นายอภิวัชร์ เดชฉกรรณ์ ยังสามารถสร้างผลงานคว้ารางวัลอันดับ 4 ในรายการเดียวกัน ด้วยสถิติ 4.71 เมตร ทำให้เยาวชนไทยผงาดขึ้นเป็นจ้าวแห่งจรวดขวดน้ำในระดับเอเชียแปซิฟิกของปีนี้
นายปฎิภาน กล่าวว่า “ดีใจมากครับที่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดมาฝากคนไทยได้ ก่อนไปก็มีการซ้อมอย่างหนัก เพื่อจดสถิติแรงดันและระยะการตกที่เข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด แต่เมื่อไปถึงประเทศอินโดนีเซีย กลับเจอปัญหากระแสลมพัดค่อนข้างแรง ทำให้ยากกับการบังคับทิศทางและจุดตกของจรวดขวดน้ำ แต่มันก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคน เพื่อผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปให้ได้ ที่สำคัญการได้เจอเพื่อน ๆ จากหลายประเทศทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเทคนิคการประดิษฐ์จรวดของแต่ละประเทศ อย่างประเทศไทยนิยมนำฟิวเจอร์บอร์ดมาทำเป็นหางจรวด แต่มีบางประเทศเลือกใช้พลาสติกบางใส ซึ่งถือเป็นความรู้ที่แปลกใหม่ ซึ่งผมคิดว่าเมื่อกลับมาผมจะทดลองนำวัสดุแบบต่าง ๆ มาทำหางและดูระยะการเคลื่อนที่ของจรวดอีกครั้งครับ”
ด้านนายสุวรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กิจกรรมจรวดขวดน้ำ ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ที่กระตุ้นให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ใช้ความรู้ ความเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานสิ่งประดิษฐ์ ที่ให้ความสนุกสนาน ท้าทายแก่ผู้ร่วมกิจกรรม การได้นำเยาวชนไทยเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะสามารถคว้ารางวัลใหญ่มาได้ถึง 2 รางวัล
โดยในการแข่งขัน เยาวชนทั้ง 2 ต้องฝ่าฟันอุปสรรค แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกี่ยวกับกระแสลมแรงที่พัดมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถยิงจรวดเข้าเป้าหมาย ซึ่งก็มีเยาวชนอีกหลายทีมที่พลาดไม่สามารถยิงจรวดขวดน้ำเข้าเป้าหมาย นอกจากรางวัลอันน่าภาคภูมิใจแล้ว เยาวชนไทยที่ไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้รับประสบการณ์การในการแข่งขันระดับนานาชาติ พบปะเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจในกิจกรรมคล้าย ๆ กัน มีโอกาสได้ทัศนะศึกษา รวมถึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย และการใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งในอนาคตเราคาดหวังว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะโตไปเป็นกำลังสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาสังคมไทยเราให้ก้าวหน้าต่อไป”