กรมควบคุมโรคแนะ 7 วิธี
ดูแลพ่อสูงวัยห่างไกลโรค
กรมควบคุมโรคห่วงสุขภาพคุณพ่อสูงวัย เนื่องใน”วันพ่อแห่งชาติ” โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วนและโรคเบาหวาน เป็นต้น ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ทั้งเรื่องของ ตา ไต หัวใจ สมอง และเท้า นอกจากนี้พ่อสูงวัยยังมีอาการ ปวดหลัง ปวดเอว ไขข้ออักเสบ แนะลูกหลานใช้ 7 วิธีดูแลพ่อ รวมให้พักผ่อนวันละ 6- 8 ชั่วโมง ดูแลฟัน อาหาร ออกกำลังกายและพบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้านบ้าง
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ซึ่งประชาชนในฐานะเป็นลูกก็จะมีกิจกรรมมากมายที่เตรียมไว้สำหรับพ่อ เช่น กราบเท้าท่าน พาท่านไปเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน หรือสังสรรค์เล็กๆในครอบครัว และเรื่องสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องการดูแลสุขภาพของคุณพ่อสูงวัย ซึ่งพบว่า ในปัจจุบันปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย คือ ปัญหาโรคไม่ติดต่อ ที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น
จากข้อมูลในปี 2557 ประเทศไทยมีการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อคิดเป็นร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ส่วนจำนวนผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 22.3 และจำนวนผู้ที่มีภาวะอ้วนในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 8.8 นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีมีเพียงร้อยละ 37.9 ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมความดันโลหิตได้ มีเพียงร้อยละ 42.7 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าควบคุมสภาวะของโรคได้ไม่ดีก็จะมีปัญหาของภาวะแทรกซ้อนตามมา ทั้งเรื่องของ ตา ไต หัวใจ สมอง และเท้า
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า คุณพ่อที่สูงวัยมักจะมีปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย คือ ปวดหลัง ปวดเอว ไขข้ออักเสบ รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ปัญหาสุขภาพในวัยสูงอายุทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพและดำเนินชีวิตในสังคมยากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น มีสุขภาพแข็งแรง ชะลอการเกิดโรค ไม่เป็นภาระของบุตรหลาน ช่วยเหลือตนเองได้ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับคุณพ่อสูงวัย 7 วิธี ดังนี้ 1.ดูแลให้คุณพ่อพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6- 8 ชั่วโมง 2.ดูแลสุขภาพฟัน ช่องปากอยู่เสมอ 3.แนะนำหรือจัดให้ท่านรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม 4.ออกกำลังกายตามความเหมาะสมของวัย หลีกเลี่ยงการออกกําลังกายที่มีแรงกระแทก เช่นการกระโดด การเดินขึ้นลงบันไดที่สูงมากๆ ความเร็วสูงหรือเปลี่ยนทิศทางเพราะจะหกล้มได้ง่าย 5.ให้ท่านได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้ท่านรู้สึกโดดเดี่ยว 6.ทำให้ท่านรู้สึกมีคุณค่า ไม่เป็นภาระของลูกหลาน และ 7.พาท่านไปตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422