เคยมีคำกล่าวว่า สมุนไพรบางชนิดสามารถให้โทษได้ ในจำนวนสมุนไพรอันตรายนี้รวมถึง “ลำโพง” เช่นกัน เป็นพืชสมุนไพรที่มีดอกสวยงาม ลักษณะทรงกรวยยาวปากบายคล้ายแตรทรัมเป็ต หรือคล้ายกับดอกผักบุ้งแต่มีขนาดใหญ่กว่า สามารถให้ทั้งคุณและโทษแก่ผู้บริโภคเข้าไป ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผลหนองได้ พืชสายพันธุ์ใกล้ชิดกับลำโพง คือ ลำโพงกาสลัก หรือหมากเขือบ้ากาจับหลัก, หมากเขือบ้าแหล่ นิยมใช้ทำยาเช่นกันและสามารถใช้แทนกันได้
จากข้อมูลของ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร “ลำโพง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datura metel L. จัดอยู่ในวงศ์ SOLANACEAE เป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกในตำรายาโบราณของภาคเหนือ ภาคอีสาน และในตำรายาของหมอยาไทยใหญ่ว่า “หมากเขือบ้า” เมื่อได้เห็นชื่อก็คงเดาได้ว่าถ้าใครเผลอกินเข้าไปแล้วเป็นบ้าแน่นอน ในอดีตที่ยังไม่มียาชา ยาแก้ปวด ยาแก้หอบหืด ยาแก้บ้า ยานอนหลับ ยาปฏิชีวนะ ยารักษาหมาบ้ากัด ยารักษาฝีและแผลเรื้อรัง ลำโพงซึ่งเป็นสมุนไพรที่คนไทยในแถบเอเชียรู้จักกันดีนั้น สามารถใช้แทนยาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี พ่อหมอทุกคนต่างรู้ดีว่า หมากเขือบ้า เป็นพืชที่มีพิษอยู่ทุกส่วน หากกินเข้าไปแล้วคอจะเป็นหนาม(คอแห้งมาก) กินข้าวกินน้ำไม่ได้ ดังนั้น ในตำรายาที่เข้าลำโพง แม้แต่ยาพอก จะมีการกำกับขนาดการใช้อยู่ด้วยเสมอ และห้ามใช้กับแผลเปิดเป็นบริเวณกว้าง
ภาพ-www.samunpri.com
ในอดีตมีการนำเมล็ดลำโพงไปใส่ในน้ำชา หรืออาหาร เพื่อกลั่นแกล้งหรือทำร้ายกัน ส่วนการแก้พิษในสมัยก่อน คือ การให้กินน้ำมะนาว หรือทำให้อาเจียนทันที แต่ถ้ากินในปริมาณมากและปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ก็ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนให้เป็นปกติ คือ อาจเป็นบ้าไปเลยก็เป็นได้ พิษของลำโพงนั้นมีอยู่ในเมล็ดมากที่สุด เมื่อกินเข้าไปอาจทำให้ตายได้ ส่วนที่มีพิษรองลงมา คือ ดอก ต้น ลูกดิบ ใบแก่ และรากตามลำดับ โดยจะมีสารอัลคาลอยด์ (alkaloid) หลายชนิด ได้แก่ hyoscyamine, atropine, belladomine และ scopolamine หมอยาส่วนใหญ่จึงจะไม่ค่อยบอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ลำโพงมากนัก เพราะถือว่าเป็นดาบสองคม
ส่วนปัจจุบันนี้ หากใครเผลอกินลำโพงเข้าไป ก็ให้รีบพาไปโรงพยาบาล โดยจะให้การรักษาแบบเดียวกับการได้รับพิษของ อโทปีน (atropine) ที่จะมีผลกระตุ้นต่อระบบประสาทส่วนกลาง และเนื่องจากการใช้ลำโพงมีความเสี่ยงมาก โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นยากิน จึงไม่ควรนำมาใช้เองโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ นอกจากนี้สารพิษในต้นลำโพงไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ซึ่งอาการที่เกิดจากพิษของลำโพงจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที ถึง 60 นาที หลังจากกินเข้าไป และจะมีอาการต่อไปอีก 2-3 วัน
ปัจจุบัน ลำโพงจัดอยู่ในประเภทพืชพิษ ทำให้คนมองพืชชนิดนี้อย่างหวาดกลัว แต่จริงๆ แล้ว ลำโพง ยังเป็นยารักษาแผลฝีหนอง หรือฝีที่ดีที่สุดในอดีต โดยมีการนำใบลำโพง ขมิ้นอ้อย เกลือ และข้าวสุกเผาไฟจนเป็นถ่าน เอามาตำเข้าด้วยกัน แล้วนำมาพอกแผลหรือฝี เนื่องจากในลำโพงมีสารย่อยหนองและเนื้อตายได้เหมือนยางมะละกอ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ปัจจุบันมียาปฏิชีวนะ และการผ่าตัดที่ได้ผลดีกว่า ทำให้คุณค่าของลำโพงในแง่นี้พลอยหมดไป
นอกจากนี้ ในโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ครูหมอยายังนิยมใช้ลำโพงเข้ายาประคบ รวมไปถึงการในอาการช้ำบวมอื่นๆ ลำโพงยังสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย เพราะใช้กับบริเวณที่ไม่ได้มีแผลเปิด
ตำรับยา
ยาฝีลม (อาการปวดบวมที่ไม่มีหัวฝี) เป็นยาทาภายนอก ให้เอาหัวทองสมุดขาว 1 ราก ลำโพงกาสลัก 1 ฝน ทาบริเวณที่เป็น
ยาประคบแก้ข้อต่อบวมและปวดกระดูก ใช้ใบลำโพงย่างไฟ แล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็น
ยาน้ำมัน ใช้ใบคนทีสอ ใบลำโพง ใบสลอด ใบพุทรา เปลือกเพกา ใบทับทิม ขมิ้น ใบมะนาวควาย ใบพลูแก่ อย่างละเท่ากัน ตำเอาน้ำมันงาทา ใช้ใส่แผลฝีได้ดี
ยาแก้เอ็นปวดดึง ให้นำรากลำโพง รากโกทา ฝนทาบริเวณที่ปวด
ยาประคบแก้อัมพาต และอัมพฤกษ์ ใช้ใบสมัดน้อย (หัสคุณไทย) เครือเอ็นอ่อน ใบลำโพงขาว เครือเขาคำ (สังวาลพระอินทร์) ใบกุ่มบก ขมิ้นอ้อย หัวไพล อย่างละเท่าๆ กัน ล้าง ผึ่งให้แห้ง สับ ตำ นำไปทำยาลูกประคบ ตำรับนี้นำไปทำยาอบได้ แต่ไม่ให้ใส่ลำโพง เพราะจะทำให้ง่วง เมา อาเจียน หรืออาจเป็นลมป่วง(เพ้อคลั่งไม่ได้สติ) การรักษาใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยทำทั้ง 3 วิธี คือ วิธีประคบ ให้ทำเช้า เย็น ทุกวัน การอบยาให้อบวันละ 1 ครั้ง ตอนเช้า และให้ฝึกเดินร่วมด้วย
จะใช้สมุนไพรชนิดนี้ควรต้องระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญย่อมดีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา