สแกนภูเก็ตท่องเที่ยว‘คลีน’
‘ไร้นอมินี’ พบมีโทษจำ-ปรับ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลังพันธมิตรประเดิมตามแผนงบปี 59 ลงพื้นที่ภูเก็ตตรวจสอบนอมินี ไม่พบธุรกิจท่องเที่ยวเอี่ยว แต่มี 2 ธุรกิจเข้าข่ายเป็นนอมินี พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ประกบให้ความรู้ผู้ประกอบธุรกิจกันเหนียวก่อนเกี่ยวข้องวงจรนอมินี ชี้พบผิด จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน- 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีโทษปรับรายวันอีก 1 หมื่น– 5 หมื่นบาทต่อวันจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน เผยผลงาน 1 ปี หลัง MOU 4 ฝ่าย พบธุรกิจเข้าข่าย 13 ราย ส่งไม้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมด้วยพันธมิตรทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจนอมินีใน ‘จังหวัดภูเก็ต’ เมื่อวันที่ 15-20 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวไทยและ ชาวต่างชาติ ประกอบกับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
“ผลการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตจำนวนทั้งสิ้น 51 ราย พบว่า บรรยากาศโดยรวมเป็นไปอย่างเรียบร้อย ผู้ประกอบธุรกิจให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี และมีความตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ‘ไม่พบ’ ผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินี แต่กลับพบธุรกิจอื่นที่เข้าข่ายเป็นนอมินีจำนวน 2 ราย คือ ธุรกิจให้เช่ายานพาหนะ และธุรกิจขายปลีก กรมฯ จึงแจ้งให้กรรมการบริษัทของทั้ง 2 แห่งจัดส่งเอกสารเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบเชิงลึกอีกครั้ง หากพิจารณาแล้วพบว่าเป็นการจงใจกระทำผิด ขั้นตอนต่อไปกรมฯ จะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการพิจารณาตามกฎหมาย
สำหรับโทษของการกระทำผิดในลักษณะนี้คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1๐๐,๐๐๐- 1,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1๐,๐๐๐ – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน อย่างไรก็ดี แม้จะพบผู้เข้าข่ายนอมินีจำนวนไม่มากนัก กรมฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสร้างความรู้และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกฎหมายที่ต้องรู้ และปฏิบัติตามเพื่อป้องปรามไม่ให้มีการใช้ตัวแทนอำพรางในการทำธุรกิจอีกต่อไป”
การลงพื้นที่ตรวจสอบนอมินีเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 4 หน่วยงาน ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้ คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 มีกรอบความร่วมมือใน 4 ด้านคือ ด้านการจดทะเบียนและอนุญาต ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านกำกับดูแลและป้องปราม และด้านการส่งเสริม ธุรกิจท่องเที่ยว
นับเป็นเวลากว่า 1 ปีที่กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจในจังหวัดที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินีจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อไป โอกาสนี้ กรมฯ จึงขอเตือนคนไทยและผู้ประกอบธุรกิจอย่าให้ความช่วยเหลือหรือถือหุ้นแทนคนต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายไทยอย่างเด็ดขาด