สัมมนาใหญ่เตรียมตัวก่อนใช้
‘กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ’
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เชิญทุกภาคส่วนกว่า 1,300 คน เข้าร่วมรับฟังและเตรียมความเข้าใจเรื่อง กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ พบกูรูทั้งระดับโลกและระดับประเทศ พร้อมเข้าใจมุมมองของ SMEs ก่อนบังคับใช้จริง 2 ก.ค. 59 … เชื่อ!! หาก SMEs ที่มีอยู่ราว 2.8 ล้านรายเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จะมีโอกาสในการเติบโตสามารถขยายธุรกิจของตนเองต่อไปและช่วยดัน GDP ไทยโตได้อย่างก้าวกระโดด
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 58 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเป็นหน่วยงานรับจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ และเผยแพร่ข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ได้เดินหน้าเต็มที่เตรียมความพร้อมทั้งโครงสร้างภายในองค์กรและเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการให้บริการ จดทะเบียนดังกล่าว โดยอีกด้านหนึ่ง กรมฯ ได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกภาคส่วนพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 อย่างสมบูรณ์แบบ
“กรมฯ ได้จัดสัมมนาเรื่อง กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ: ทางเลือกใหม่ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจได้รับทราบแนวทาง รวมถึงโอกาสและประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจได้แบ่งปันมุมมองทุกมิติทั้งในระดับโลกคือ ‘ธนาคารโลก’ มุมมองของ ‘ภาครัฐ’ และ ‘ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ไทย’ ซึ่งผู้เข้าสัมมนาจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากประเทศที่มีการใช้กฎหมายในลักษณะนี้แล้ว พร้อมกันนี้ยังได้ทราบถึงสาระของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่เป็นตัวช่วยสำคัญให้ SMEs กว่า 2 ล้านรายที่ยังไม่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มีโอกาสในการเติบโตสามารถขยายธุรกิจของตนเองต่อไป”
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในการที่จะพัฒนาศักยภาพ และยกระดับคุณภาพของธุรกิจไทยให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ ทั้งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC และในตลาดสากลนั้น กลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้ธุรกิจไทย หรือ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ SMEs สามารถพัฒนาสินค้า ขยายการบริการของตนเอง ตลอดจนสร้าง SMEs หน้าใหม่ ซึ่งจะเป็นบทบาทสำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทยต่อไป
กฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ คือ ภารกิจใหม่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการสร้าง “ทางเลือกใหม่” ของ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน ที่ SMEs สามารถนำทรัพย์สิน “ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ” เช่น เครื่องจักร หรือสต๊อกสินค้า มาประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบให้กับสถาบันการเงินเหมือนแต่ก่อนและสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นประกอบธุรกิจต่อไปได้ โดยกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559
กฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเป็นกฎหมายสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน และจำเป็นต้องสร้างความสมดุล ทั้ง“ผู้ประกอบการ SMEs” ที่มีความจำเป็นในการขอกู้ “สถาบันการเงิน” ที่ต้องประเมินความเสี่ยง ในการปล่อยกู้ “ผู้บังคับหลักประกัน” วิชาชีพใหม่ที่บังคับหลักประกันด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม ตลอดจนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ
ด้วยบทบาทนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดตั้ง “กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ” ขึ้น และเพื่อยกระดับและสร้างมาตรฐานด้านหลักประกันทางธุรกิจของไทยเทียบเท่านานาชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับธนาคารโลก โดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือ International Finance Corporation จัดทำความร่วมมือในการวางระบบด้านทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเริ่มดำเนินงานร่วมกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เล็งเห็นความสำคัญและกำหนดเป้าหมาย ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2.8 ล้านราย ผ่านเครือข่ายภาคธุรกิจ สมาคมการค้าต่างๆ (2) ภาคสถาบันการเงิน จำนวน 94 แห่ง (3) ผู้บังคับหลักประกัน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ จำนวน 80,000 ราย และผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี จำนวน 50,000 ราย ตลอดจนหน่วยงานทรัพย์ที่มีทะเบียน และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
งานสัมมนา “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ : ทางเลือกใหม่ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน” ในวันนี้ คือ “ก้าวแรก” ของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ จุดประกายทุกท่าน ให้เห็นถึง “ทางเลือกใหม่” ในการเข้าถึงแหล่งทุนและโอกาสในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว มีผู้เข้าร่วมจากภาคธุรกิจ ภาคสถาบันการเงิน ภาคการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มากกว่า 1,366 ราย