คืน 14 ธ.ค. แฟนคลับรอชม
“ฝนดาวตกเจมินิดส์” ส่งท้ายปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2558 ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ค่ำคืนวันที่ 14 ธ.ค.นี้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชมได้ทุกภูมิภาคในท้องฟ้ามืดไร้แสง มีลุ้นอัตราการตกสูงถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง จับมืออุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดกิจกรรมชวนนอนนับฝนดาวตกที่ยอดดอย ส่วนภูมิภาคจัดที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ โคราชและฉะเชิงเทรา
ภาพ-จาก www.talkdara.com
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี คาดการณ์ว่าในปีนี้จะสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:30 น. ของคืนวันที่ 14 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม และคาดการณ์อาจมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง โดยจุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ระหว่างดาวพอลลักซ์ และดาวคาสเตอร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นได้ในทุกภูมิภาคของไทย ประกอบกับในคืนดังกล่าวเป็นคืนเดือนมืดดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน นับเป็นโอกาสดีที่จะสามารถสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืน
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้วยังมีฝนดาวตกชุดอื่นให้ชมกันอีก เช่น ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ ในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 2558 อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง ฯลฯ ถือเป็นเดือนส่งท้ายปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่ มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น
ด้านนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ได้แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกว่า “ควรใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ ใช้ความไวแสงสูงๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไป เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการบันทึกภาพฝนดาวตก รวมทั้งการตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง และใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเก็บภาพท้องฟ้าให้ได้กว้างที่สุด โดยหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศของศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งจะเริ่มโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่ม ของวันที่ 14 ธันวาคม เป็นต้นไป”
ทั้งนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ชวนคนไทยร่วมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ในกิจกรรม “เปิดฟ้า…ตามหาดาว” ณ จุดสูงสุดแดนสยาม เป็นจุดที่ท้องฟ้าดีที่สุดในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศหนาวเย็นสุดขั้ว บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้สนใจแจ้งความจำนงล่วงหน้าหรือสอบถามรายละเอียดที่ 053-225569 ต่อ 305 หรือ www.narit.or.th รับจำนวนจำกัด 120 ท่าน เท่านั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เช่นกัน ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 (สอบถามโทร. 038-589395) หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ www.facebook.com /NARITpage